เฮือกสุดท้ายนิตยสารไทย เมื่อพฤติกรรมนักอ่านส่งผลกระทบต่อวงการนิตยสาร

ไลฟ์สไตล์
24 ธ.ค. 58
16:43
716
Logo Thai PBS
เฮือกสุดท้ายนิตยสารไทย เมื่อพฤติกรรมนักอ่านส่งผลกระทบต่อวงการนิตยสาร
พฤติกรรมการอ่านหนังสือที่เปลี่ยนไปตลอดจนการจัดสรรส่วนแบ่งงบโฆษณาไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ทำให้วงการนิตยสารบ้านเราในปีนี้ เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน มีนิตยสารทั้งรายใหญ่ รายเล็กต้องปิดและปรับตัวกันหลายราย

ปกนิตยสาร Way ฉบับที่ 90 ได้ 9 บรรณาธิการชื่อดัง อย่างภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ โตมร ศุขปรีชา รวมถึงนักเขียนและนักอ่านที่ได้รับการยอมรับในวงการหนังสือ รวมตัวเพื่อคัดเลือกคอลัมน์ที่ดีที่สุดซึ่งเคยตีพิมพ์ในนิตยสารเวย์ตลอด 9 ปี รวบรวมไว้ในคอลัมน์พิเศษของเวย์ฉบับที่ 90 ซึ่งเนื้อหาที่อัดแน่นกว่า 400 หน้า การจัดพิมพ์สีและเย็บกี่ที่ตัวเล่มในฉบับนี้ยังจะเป็นต้นแบบของเวย์ฉบับต่อไปในอีก 4 เดือนข้างหน้า หลังอธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหาร ประกาศปรับโฉมจากนิตยสารรายเดือนเป็นราย 4 เดือน และรวมเล่มในรูปแบบของบุ๊คกาซีนที่เน้นการเจาะลึกและย่อยประเด็นหนักๆ ให้เข้าใจง่ายในแบบเฉพาะตัว

 

"เราไม่ใช่สื่อที่เล่นกับกระแสในชั้นต้นประเภทใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เราไม่ทำหน้าที่นั้น แต่เราอาจทำหน้าที่ในการที่สามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดจึงเกิดเหตุเช่นนั้นขึ้น โจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือ มีอายุทางการอ่านยาวนานขึ้น นอกจากนั้นทำอย่างไรจึงจะให้ตัวสื่อสิ่งพิมพ์มีมูลค่าในตัวมันเอง" อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Way กล่าวถึงทิศทางบนแพลทฟอร์มออนไลน์ของ Way

 

การใช้สื่อออนไลน์เป็นอีกช่องทางสำคัญที่นิตยสารส่วนหนึ่งใช้ปรับตัวเพื่อให้เข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อที่จะทดแทนนิตยสารรายเดือนที่หายไป เวย์ก็เลือกเนื้อหาที่มีความเหมาะสมเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลในรูปแบบของคอนเทนต์รายวัน

 

กว่า 3 ปี ที่เวย์แม็กกาซีน หันมาพัฒนาสื่อออนไลน์ควบคู่กับการพิมพ์นิตยสารรายเดือน ทั้งรูปแบบอินโฟกราฟิก คลิปวีดีโอ อัพเดทเนื้อหาขึ้นวันต่อวัน ผ่านทางเว็บไซด์ และเพจเฟสบุ๊คที่มีสมาชิกติดตามเกือบหนึ่งแสนสองหมื่นราย เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้อ่านที่เปลี่ยนไป ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อนิตยสารมากกว่ารายได้จากงบโฆษณา

"ถ้าถามว่าเวย์สามารถทำรายเดือนต่อไปได้ไหม ตอบว่าทำได้ ทำได้อีกพักใหญ่เลยล่ะ ผมคิดว่าการปรับตัวและความสามารถที่จะแปรรูปคอนเทนต์แบบที่เราสนใจแบบที่เราทำทุกวันนี้ไปสู่ช่องทางใหม่ๆ ด้วยเครื่องมือที่สื่อสารถึงผู้รับอย่างมีประสิทธิภาพ อาจจะมากกว่าสิ่งพิมพ์ด้วยซ้ำไป"

 

ตลอดปี 2558 วงการนิตยสารบ้านเรา ซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพิงรายได้จากงบโฆษณา แต่ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้มีรายได้ลดลงร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมาก เช่น การปิดตัวของนิตยสาร "เปรียว" ที่อยู่ในวงการมาถึง 35ปี การเปลี่ยนมือเจ้าของนิตยสารผู้หญิงในเครือค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ การปรับตัวสู่ฟรีก็อปปี้ของนิตยสารรายเดือนหลายฉบับ ไม่เว้นแม้แต่นิตยสารดาราแนวก็อซซิปที่เคยมียอดขายนับแสนฉบับก็ต้องทยอยปิดตัวไปเช่นเดียวกันเพราะผู้อ่านลดลง รวมถึงการหันไปจัดงานอีเวนท์หรือกิจกรรมพิเศษเพื่อต่อยยอดธุรกิจ นอกจากการหารูปแบบที่เหมาะสม อีกโจทย์สำคัญคือการสร้างคอนเทนต์ให้โดดเด่นและโดนใจกลุ่มเป้าหมายเพื่อต่อลมหายใจให้กับธุรกิจสิ่งพิมพ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง