บทวิเคราะห์ : มรสุมรุมเร้า "บิ๊กตู่"

Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : มรสุมรุมเร้า "บิ๊กตู่"
"เสาวลักษณ์ วัฒนศิลป์" บรรณาธิการข่าวการเมือง ไทยพีบีเอส วิเคราะห์สถานการณ์ของรัฐบาลและคสช.ช่วงต้นปี 2559 ซึ่งเพียงต้นปีก็เริ่มมีมรสุมรุมเร้า ทั้งราคายางพารา แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ไปจนถึงวิกฤตภัยแล้ง

เปิดฉาก-ปะฉะดะ-มาเหนือเกม ลุงกำนัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้สัมภาษณ์ชี้นำแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ กิโลกรัมละ 60 บาท เชื่อมั่นรัฐบาลบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำได้ ท่ามกลางกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางประกาศนัดหมายชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องเร่งแก้ปัญหาใน 12 จังหวัดภาคใต้ จากที่อืดอาดเชื่องช้าอ้างแก้ทั้งระบบ ตอบรับสรุปเรื่องเข้าครม. ฟันธงตั้งคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย สั่งองค์การคลังสินค้า (อคส.) ร่วมคสช.รับซื้อยางกรีดใหม่แสนตัน ราคาเบื้องต้น 45 บาท โดยพลัน

เรื่องร้อนทุเลาเบาลงไปได้ เรื่องใหม่ก็ปะทุขึ้นอีก ปฏิเสธเงื่อนงำมาหลายวัน สุดท้ายโผมติประชุมลับนัดพิเศษ ของคณะกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เรื่องเสนอรายนามสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 เสนอชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ "สมเด็จช่วง" ว่าแล้ว มีสัญญาณแปลกๆ ย้ำเสียงดัง ๆ ต้องคลี่คลายความขัดแย้งในวงการสงฆ์ ก่อนนำชื่อขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อสถาปนา พอเรื่องเป็นอย่างงี้ ก็ถึงคราวต้องวัดใจกัน จะเคลียร์ยังไง เหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย

อีกประเด็นหนึ่ง แม้จะยังไม่ร้อนฉ่า แต่ก็เข้าข่ายอุ่นๆ เพราะร่างรัฐธรรมนูญ ร่างแรกที่ต้องเสร็จ 29 มกราคมนี้ เป็นรูปเป็นร่างแล้ว หลังตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดประชุมนอกสถานที่ เคาะกันแบบรายมาตรา ได้ 13 หมวด 261 มาตรา ไม่นับรวมบทเฉพาะกาล ที่จะมาคิดต่อสัปดาห์นี้ บ้างก็เพิ่มบ้างก็ตัด แต่ที่ชัด ๆ แม้ไม่ผุดเป็นเรื่องใหม่จากกรอบเดิม แต่ดูจะเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระมากขึ้น เราพะมาตรา 7 ที่ว่าคลุมเครือ แน่นอนแล้วว่าองค์กรวินิจฉัยคือ ศาลรัฐธรรมนูญ สุ่มเสี่ยงเจอข้อครหาตุลาการภิวัฒน์ แล้วยังบ่งบอกนี่คือรูปโฉมใหม่คปป.

ส่วนประเด็นนี้ คงต้องละไว้ให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน ที่ว่ายังไม่แน่จะบัญญัติเรื่องปรองดองและปฏิรูปไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่วงนอกที่รับลูกไว้ ก็ต้องชะลอไปก่อนอีก ญัตติจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเสริมสร้างสังคมสันติสุข เหตุผลก็ดูจะเลือนลาง-ไม่พ้องกันข้อเท็จจริง โควต้าล้นหรือคู่ขัดไม่ร่วม ว่าแต่สัปดาห์นี้ต้องตามต่อกันอีกที จะลงเอยแบบไหน ตั้งให้เป็นรูปเป็นร่าง แล้วสรุปตรากฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่

เช่นเดียวกับปัญหาภัยแล้ง ที่เข้าช่วงวิกฤตขาดแคลนน้ำ ก็ต้องตามต่อ แต่คงต้องใกล้ชิดกว่าทุกประเด็น เพราะเป็นความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ใช่แค่ภาคใต้ แต่จากเหนือ ลงกลางเต็มๆ น้ำการเกษตร-ไม่เพียงพอ จะแผ่ขยายเข้ากรุงเทพฯ ส่งผลต่อน้ำอุปโภคบริโภค ถึงคราวต้องร่วมกันประหยัดอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะน้ำกินน้ำใช้ แต่มีแผนแน่นอนแล้วว่า ผู้นำครม.ต้องเดินสายจัดการด้วยตัวเอง ลงพื้นที่ "ชัยนาท-อุทัย-นครสวรรค์" วันที่ 22 ม.ค.2559 ก่อนคลอดมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนกันอีกรอบ

นี่ยังไม่นับรวม ประเด็นร้อนที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หงุดหงิดใจ หลังกรรมการบริหารหรือบอร์ดสสส. 7 คน ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเป็น 7 ใน 59 ชื่อที่หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 1/2559 ให้พ้นจากตำแหน่ง ด้วยเหตุอยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ สะเทือนความสัมพันธ์ของบุคคลใน ครม.ประยุทธ์ 3 สุดท้ายต้องออกมากล่าว"ขอโทษ"ผู้อาวุโสและพี่หมอใน สสส. ประคับประคองรัฐบาล-คสช.ไว้ก่อน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง