เตือน “ไข้เลือดออก” อันตรายทั้ง 4 สายพันธุ์ ยังไม่มียารักษา-แนะทำลายแหล่งยุงวางไข่

สังคม
19 ม.ค. 59
19:03
498
Logo Thai PBS
เตือน  “ไข้เลือดออก” อันตรายทั้ง 4 สายพันธุ์ ยังไม่มียารักษา-แนะทำลายแหล่งยุงวางไข่
หลังจากการเสียชีวิตของพระเอกหนุ่ม “ปอ” ทฤษฎี สหวงษ์ ด้วยอาการแทรกซ้อนจากโรคไข้เลือดออก ไทยพีบีเอสออนไลน์จึงนำข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้เลือดมานำเสนออีกครั้ง เพื่อเป็นความรู้ในการเฝ้าระวังต่อไป

พญ.วิรงค์รอง เจียรกุล อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสว่า ไข้เลือดออกในประเทศไทยมี 4 สายพันธุ์ ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละปี สายพันธุ์ไหนระบาด แต่ถ้าพูดถึงความรุนแรง ทั้ง 4 สายพันธุ์ มีความรุนแรงไม่ต่างกัน มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้ทั้งนั้น

“เราไม่มีปัญหาในการวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก ลักษณะอาการจะบ่งบอกได้ชัดเจน ถ้าเราได้รายละเอียดอาการของผู้ป่วยเพียงพอ ปัจจุบันเรารู้ผลได้ในเวลาไม่นานเพราะตรวจทางน้ำเหลือง สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรกแต่ถ้าคนทั่วไปจะดูอาการเองอาจจะเป็นเรื่องยากต้องพบแพทย์ วิธีสังเกตอาการง่ายๆ ผู้ป่วยมักมีไข้สูงเฉียบพลัน เป็นไข้ลอย คือกินยาแล้ว แต่ไข้ไม่ลดลง ปวดหัวรุนแรง ปวดกระบอกตา คลื่นใส้อาเจียน อุจจาระเป็นสีดำ ลักษณะบางรายอาจคล้ายไข้หวัดใหญ่แต่ไม่มีน้ำมูก ส่วนจุดจ้ำเลือดตามผิวหนังมักพบในระยะ 3 ถึง 4 วันผ่านไปแล้ว”

พญ.วิรงค์รองกล่าวต่อว่า ธรรมชาติของไข้เลือดออกจะรุนแรงหรือไม่ยังบอกไม่ได้ ไม่ได้เกี่ยวกับสายพันธุ์ ซึ่งเรามีเพียงสัญญาณเตือนอย่างที่บอกไป เรายังไม่มียารักษาโรคเฉพาะทาง ทำได้เพียงรักษาประคองตามอาการ

สมัยก่อนโรคนี้มักพบในเด็ก แต่ปัจจุบันเราพบว่า ผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกซ้ำเป็นครั้งที่ 2 หรือกลุ่มที่เคยเป็นในวัยเด็กแล้วมาติดเชื้ออีกสายพันธุ์หนึ่งตอนโต ลักษณะนี้จะมีอาการรุนแรงกว่าเดิมมาก หากมีอาการช็อค ก็จะช็อครุนแรง และอวัยวะล้มเหลวตามมา คนไข้ที่มีอาการหนักลักษณะนี้เราพบไม่บ่อย

กลุ่มเสี่ยงที่เราเก็บข้อมูลไว้คือกลุ่มผู้ป่วยที่มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป มีอายุระหว่าง 10 ถึง 20 ปี กลุ่มนี้เสี่ยงมาก มีโอกาสป่วยไข้เลือดออกระดับรุนแรง แต่เรายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าทำไมจึงไปเกิดกับคนที่มีน้ำหนักมาก เพียงแต่เราเก็บข้อมูลและพบจากกลุ่มนี้มาก

ด้าน รศ.สุพัตรา ทองรุ่งเกียรติ อาจารย์ภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ยุงลายมีไข่ที่พิเศษ มันไข่บนผิวน้ำ พอน้ำลดลงไข่มันไม่ได้ลงตามน้ำไปด้วย มันเกาะอยู่ที่ผิวภาชนะ เคยได้ยินมั้ยมีอยู่ช่วงหนึ่งเราได้ยินว่า เทน้ำทิ้งแล้วต้องขัดด้วยเพราะไข่มันติด เวลาเทน้ำทิ้งไข่มันไม่ได้ไปด้วย”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในที่แห้งไข่ก็ยังไม่ตายหรือ รศ.สุพัตรากล่าวว่า “ใช่ เช่น กระดาษแผ่นนี้ตอนแรกเราทำให้มันชื้นนะ ยุงจะไข่บนที่ชื้น เวลาเราจะทำวิจัยและจะเก็บไข่ไว้ เราก็ปล่อยให้มันแห้ง เพื่อเก็บรักษาไข่ ไข่ยุงลายอยู่ในสภาพแห้งแบบนี้ได้เป็นปี พอได้รับน้ำก็จะออกมาเป็นตัว แต่เราเห็นไข่มากๆ แบบนี้ ยิ่งเก็บนาน โอกาสจะฟักตัวก็ต่ำลงเรื่อยๆ ถ้าแห้งสัก 1 สัปดาห์ ไข่อาจฟักตัวได้ทั้งหมด แต่นานไปโอกาสจะน้อย ถ้าอยู่ 1 ปี ก็ไม่ฟักตัวทั้งหมด”

รศ.สุพัตรากล่าวด้วยว่า ยุงเหมือนเดิมไม่ได้วิวัฒนาการอะไร แต่พอเมืองเจริญขึ้น มีการใช้ภาชนะมากขึ้นกลายเป็นเพิ่มแหล่งวางไข่ เมืองยิ่งขยายไข้เลือดออกยิ่งเยอะนะ เพราะไข้เลือดออกเป็นโรคของคนเมือง แหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายต้องมีภาชนะรองรับ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง