เปิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ของคสช.วันนี้

การเมือง
29 ม.ค. 59
06:11
350
Logo Thai PBS
เปิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ของคสช.วันนี้
ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่นำโดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะเริ่มเผยแพร่ในวันนี้ (29 ม.ค.) มีหลายประเด็น ที่เข้าข่ายสุ่มเสี่ยงจะถูกปฏิเสธ หรืออาจกาช่องไม่เห็นด้วยในการออกเสียงประชามติ

ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คืออำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและ 3 องค์กรอิสระ ที่เทียบเคียงแล้วมีอำนาจไม่ต่างกับของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองแห่งชาติหรือ คปป.ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2558 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และเมื่อมีเสียงสะท้อนออกมาก็กลายเป็นข้อสังเกตให้ประเมินอนาคตที่ไม่สวยหรู ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ของคสช.

และแม้จะอ้างว่าตลอดสัปดาห์นี้ กรธ.ใช้เวลาไปกับการตรวจทานถ้อยคำทุกหมวด ทุกมาตรา ที่ยกร่างฯ แบบรายมาตราแล้วเสร็จ 261 มาตรา ใน 13 หมวด แต่ชัดแล้วว่า กรธ.ใช้เวลานี้พิจารณา “บทเฉพาะกาล” ที่หมายถึง “บทที่จะใช้บังคับในกรณีใดกรณีหนึ่ง ในห้วงระยะเวลาที่คาบเกี่ยว เพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” อย่างสมบูรณ์ ไปแล้ว แต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดได้

แต่บางส่วนของบทเฉพาะกาล ที่ถูกจับตามองมากที่สุด คือกรณีการบัญญัติยกเว้นโทษให้คสช. ซึ่งนายมีชัย ออกมายืนยันแล้วว่า จะไม่เขียนเฉพาะเพียงคสช. เพราะตามพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 นั้น รัฐธรรมนูญชั่วคราว ได้เขียนยกเว้นโทษไปแล้ว ดังนั้นตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องเขียนเพียงการรับรองผลการดำเนินการของแม่น้ำทั้ง 5 สายไว้ เพราะหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ นั่นหมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน จะมีผลในทางปฏิบัติให้สืบเนื่องต่อไป

เช่นเดียวกับประเด็นการเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง สำหรับบุคคลใน คสช. จะเป็นเวลา 5 ปีหรือ 10 ปีนั้น ผลที่ออกมาก็เป็นไปตามที่ ประธานมีชัย ยืนยันว่าไม่มีเหตุจำเป็นต้องปิดกั้นเช่นนั้น และท้ายที่สุดก็เคาะออกมาให้ คสช.-ครม.-สนช.และ สปท. ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เพียงแค่ลาออกก่อน 90 วันหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จะห้ามไว้ ก็แต่เพียง กรธ.ทั้ง 21 คน ที่ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี แม้ประเด็นนี้ มุมหนึ่งจะหมายถึง เจตนาที่จะวางกรอบปิดกั้นการสืบทอดอำนาจ แต่อีกมุมหนึ่ง กลับสะท้อนว่า ไม่ใช่เหตุที่ต้องตัดสิทธิ์ผู้เสียสละทางการเมือง

แต่เมื่อคนใน คสช. ถูกตั้งคำถาม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อารมณ์โมโห-หงุดหงิดเกิดขึ้นกันไม่น้อยทีเดียว “พูดกันไปเรื่อง เอาชื่อไปอ้างกันอีก โอ้ย..ฉันเข็ดแล้ว ไม่เล่นหรอกการเมือง ตัดไปสิทธิ์ไปเถอะ เอาสัก 100 ปีไหม?” บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เปร่งเสียงซะดัง “ทำไมไม่ไปตัดสิทธิ์พวกที่ทำบ้านเมืองเสียหายละ จ้องแต่กับพวกฉัน ดูบ้างใครทำอะไร-อย่างไร เอา! เป็นหน้าที่ กรธ.โน่น” จะว่าไปแล้วก็ต้อง มโนไว้ก่อน

ถึงตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่า บทเฉพาะกาล ที่ไม่เพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง โดยเฉพาะบุคคลใน คสช.ไว้ ก็น่าจะเป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยง เป็นต้นเหตุให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ของ คสช. ข้ามไม่พ้นการออกเสียงประชามติได้ เช่นเดียวกัน กับอีก 2 ประเด็นที่ถูกจับตามองและตั้งข้อครหาว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้อำนาจองค์กรอิสระ เหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน คืออำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่รับหน้าที่เสมือนองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะวินิจฉัยชี้ขาดทุกเรื่อง ที่เป็นข้อขัดแย้งในรัฐธรรมนูญ และทุกเรื่องที่เกิดขึ้น แม้จะไม่มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็รับวินิจฉัยชี้ขาดได้ รวมถึงมาตรา 7 ที่อดีตนั้นถกเถียงตีความกันไปคนทิศ..คนละทางมาแล้ว

ส่วนอำนาจของ 3 องค์กรอิสระ นั่นคือ ป.ป.ช. สตง.และกกต. ที่จะสามารถเปิดประชุมหารือและลงมติร่วมกัน เพื่อส่งข้อเสนอแนะให้ยุตินโยบายหรือโครงการที่เป็นเหตุให้รัฐเกิดความสูญเสีย ไปยังรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรได้ ซึ่ง กรธ.อธิบายถึงเจตนาว่าต้องการปิดช่องว่างของปัญหาที่เคยเกิดขึ้น ด้วยการกำหนดกลไกการแก้ปัญหา ให้มีอยู่ในระบบอย่างชัดเจน เฉกเช่นเดียวกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ร่างแรกนี้ กรธ.ยืนยันว่า จะรับฟังและรวมรวมไว้ ประกอบการพิจารณาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับสมบูรณ์ โดยกรธ.จะเปิดเวทรับฟังความเห็นจากประชาชนเป็นรอบที่ 2 เริ่มต้นสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธุ์ รวม 4 เวที 4มุมเมืองหลักของประเทศ คู่ขนานไปกับการเปิดรับความเห็นจาก คสช.ครม.สนช.และสปท.ไปด้วย และหากใคร มโน ไปอีกว่า มีเจตนากระซิบ กรธ. ร่างรัฐธรรมนูญไว้ เพื่อคว่ำ เพราะหวังต่ออายุ คสช. บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ บอกแล้วนะ “ใคร ใคร พูด บอกมา ฉันจะเอาไปจิ้มปาก” !!!

เสาวลักษณ์ วัฒนศิลป์ บรรณาธิการข่าวการเมือง ไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง