ทารกในครรภ์เสี่ยงพิการหากติดเชื้อไวรัสซิกา

ต่างประเทศ
29 ม.ค. 59
20:30
906
Logo Thai PBS
ทารกในครรภ์เสี่ยงพิการหากติดเชื้อไวรัสซิกา
"ไวรัสซิกา" พบครั้งแรกเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคและเมื่อติดเชื้อไวรัสซิกาจะมีอาการคล้ายไข้เลือดออก ซึ่งกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุดคือหญิงตั้งครรภ์

ยุงลายเป็นพาหะนำโรคติดเชื้อไวรัสซิกาเช่นเดียวกับไข้เลือดออก แต่ปัจจุบันทั่วโลกกำลังพูดถึงโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เพราะระบาดอย่างหนักในประเทศแถบอัฟริกาในขณะนี้

ศาสตราจารย์ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ระบุว่า เชื้อไวรัสซิกาไม่ใช่โรคใหม่ โดยนักวิทยาศาสตร์ตรวจพบครั้งแรกในตัวลิงเมื่อปี 2495 ที่ประเทศอูกันดา และพบผู้ป่วยครั้งแรกที่ประเทศไนจีเรีย ต่อมาในปี 2550 ไวรัสซิกาเกิดการระบาดใหญ่บริเวณหมู่เกาะแยปในมหาสมุทแปซิฟิกและในปี 2556 ถูกพบในประเทศไทยจากการติดเชื้อของนักท่องเที่ยว 3 คน ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น เยอรมนี แคนาดาและคนไทย 5 คน ขณะที่ปัจจุบันโรคนี้กำลังระบาดในประเทศบราซิล โคลัมเบีย

หากป่วยด้วยโรคไวรัสซิกา จะมีอาการไข้สูง ผื่นขึ้นตามตัว อาการจะคล้ายโรคไข้เลือดออกแต่ไม่รุนแรงเท่า เนื่องจากมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ อาการจะคงอยู่ประมาณ 2-7 วันและจะหายได้เอง แต่ขณะนี้องค์การอนามัยโลกกำลังเฝ้าระวังสถานการณ์ระบาดของโรคนี้ในประเทศแถบอัฟริกา เพราะแม้โรคนี้จะเป็นแล้วหายได้เอง แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ได้ค้นพบว่าโรคติดเชื้อไวรัสซิกาจะส่งผลกระทบต่อผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ทำให้ทารกในครรภ์พิการในระบบประสาท ศรีษะเล็ก

ตั้งแต่ต้นปี 2558 ในประเทศบราซิล พบทารกเกิดใหม่มีศีรษะเล็กเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตประมาณ 5 เท่า โดยในปัจจุบันพบทารกศรีษะเล็กกว่า 4,000 คน ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา 8 คน ทำให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มั่นใจว่าไทยจะไม่มีการระบาดของโรคนี้ เพราะได้มีมาตรการเฝ้าระวัง รวมทั้งรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายตั้งแต่ต้นปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง