รัฐจ่าย 400บาท/เดือนอุดหนุนเด็กแรกเกิด นำร่อง ต.ค.58-ก.ย.59

9 เม.ย. 58
17:16
1,638
Logo Thai PBS
รัฐจ่าย 400บาท/เดือนอุดหนุนเด็กแรกเกิด นำร่อง ต.ค.58-ก.ย.59

รัฐทดสอบนำร่องจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดในครอบครัวยากจน 400 บาท/คน/เดือนเพื่อจูงในพ่อแม่พาเด็กเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขเพื่อพัฒนาการสมวัย วางงบฯ 600 ล้านบาทเตรียมอุดหนุนเด็กเกิด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559 โดยจ่ายไปจนอายุครบ 1 ปี

 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 เห็นชอบโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เดือนละ 400 บาทต่อคน เป็นโครงการนำร่องจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้กับเด็กแรกเกิดในครอบครัวที่ยากจนตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ เนื่องจากในครอบครัวยากจนพ่อแม่ของเด็กอาจไม่มีค่าใช้จ่ายในการดูแลลูกอย่างเพียงพอทำให้เด็กแรกเกิดไม่ได้รับบริการด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน

 
แหล่งข่าวจาก พม.อธิบายรายละเอียดว่า ช่องทางที่จะเข้าถึงโครงการนี้คือโรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจะให้คำแนะนำสตรีที่มาฝากครรภ์ว่ามีโครงการอุดหนุนเด็กแรกเกิด 400 บาท นอกจากนี้ ยังจะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านตามสื่อต่างๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเตรียมการ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน
 
โครงการนี้จะให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559  โดยวางวงเงินไว้งบประมาณ 600 ล้านบาท สำหรับอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่คาดว่าจะเกิดในครอบครัวที่ยากจนในช่วงเวลาดังกล่าวประมาณ 135,768 คน จากเด็กแรกเกิดทั่วประเทศปีละ 700,000 – 800,000 คน
 
หลังจากดำเนินการแล้ว 1 ปี จะมีการประเมินผลว่าเงินที่อุดหนุนเป็นประโยชน์กับเด็กตามวัตถุประสงค์หรือไม่ก่อนที่จะมีการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่อย่างไร  เนื่องจากเป็นโครงการใหม่ที่ประเทศไทยยังไม่เคยมี  แต่ก็คาดว่าโครงการนี้อาจจะไม่ขยายไปถึงเด็กอายุ 3-6 ปี เนื่องจากได้รับการดูแลตามสวัสดิการที่มีอยู่แล้วสำหรับเด็กเล็ก  ส่วนเด็กที่ได้รับการสนับสนุนตามกฎหมายประกันสังคมนั้นก็จะไม่ซ้ำซ้อนกัน  เนื่องจากส่วนใหญ่พ่อแม่ที่มีประกันสังคมจะไม่เข้าเกณฑ์ยากจนที่กำหนด และเงื่อนไขสวัสดิการก็ต่างกัน
 
ขณะที่องค์กรด้านการดูแลช่วยเหลือเด็กมองว่า เป็นโครงการที่ดี แต่ถ้าเทียบมาตรฐานสากลที่จ่าย 750 บาท การอุดหนุน 400 บาทต่อคนต่อเดือนก็ถือว่าน้อย ควรจ่ายเงินอุดหนุนให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล เนื่องจากค่าใช้จ่ายของเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปีค่อนข้างสูง แต่ต้องดูงบประมาณของรัฐด้วยว่าจะนำเงินจากส่วนไหนมาจัดสรร ซึ่งในปัจจุบัน ภาครัฐมีการเพิ่มภาษีจำนวนมาก เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมา 
 
นอกจากนี้ อาจจะต้องหาวิธีการให้ครอบคลุมถึงเด็กส่วนหนึ่งซึ่งอาจตกหล่นจากการขึ้นทะเบียน เช่น มีเด็กที่ไม่ได้เกิดที่โรงพยาบาล บางคนที่ติดตามพ่อแม่ไปตามไซด์งานก่อสร้าง หรือที่อื่น เป็นต้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง