"มหิดล" เตรียมฟ้องล้มละลาย "อดีตอาจารย์ทันตแพทย์" หนีใช้ทุน

สังคม
2 ก.พ. 59
13:36
1,083
Logo Thai PBS
"มหิดล" เตรียมฟ้องล้มละลาย "อดีตอาจารย์ทันตแพทย์" หนีใช้ทุน
วันนี้ (2 ก.พ.2559) ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลแถลงข่าวกรณีทันตแพทย์ลาศึกษาต่อปริญญาโทและปริญญาเอกแล้วไม่กลับมาชดใช้ทุน

ผู้บริหาร ม.มหิดลที่ร่วมการแถลงข่าวในวันนี้ ได้แก่ ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ และ รศ.ทพ.พาสน์ศิริ นิสาลักษณ์ คณบดี คณะทันตแพทย์ศาสตร์ ใช้เวลาแถลงประมาณ 40 นาที

เวลานี้ 13.00 น. #ไทยพีบีเอส ถ่ายทอดสด ผ่านทาง facebook live จาก ม.มหิดล ศาลายา แถลง "กรณีการใช้ทุนการศึกษาอดีตอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์"

Posted by ThaiPBS on Monday, February 1, 2016

 

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลยังได้แจกแถลงการณ์ประกอบการแถลงข่าว รายละเอียดในแถลงการณ์มีดังนี้

ก่อนอื่น มหาวิทยาลัยมหิดลขอขอบคุณผู้สื่อข่าวหลายสำนักที่ให้ความสนใจต่อข่าวที่ปรากฎ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสื่อสารกันในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับกรณี อดีตทันตแพทย์รายหนึ่งซึ่งเคยปฏิบัติงานที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขอลาศึกษาต่อปริญญาโท-เอก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วต่อมาได้กระทำผิดสัญญาไม่ยอมชดใช้ทุนเบี้ยปรับ ทำให้เป็นภาระแก่ผู้ค้ำประกันต้องชดใช้เงินทุนและเบี้ยปรับแทน มหาวิทยาลัยมหิดลได้ติดตามข่าวนี้มาโดยตลอด จึงอยากชี้แจงและทำความเข้าใจที่ชัดเจน ตามลำดับต่อไปนี้

ตามที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ออกมาชี้แจงในกรณีดังกล่าวว่าทุนที่อดีตทันตแพทย์ได้รับดังกล่าวนั้นเป็นทุนที่ทาง สกอ.ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นที่ต้องการเร่งรัดการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี พัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ รวม 16 สาขา ซึ่งตามสัญญาจะต้องกลับมาชดใช้ทุน โดยต้องกลับมารับราชการในส่วนราชการตามที่กำหนดให้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของระยะเวลาที่ได้รับทุนรัฐบาล แต่เมื่อไม่กลับมาชดให้ทุนทางมหาวิทยาลัยมหิดลโดยได้รับมอบอำนาจจาก สกอ.ให้ดำเนินการติดตาม ก็ได้พยายามติดตามและทวงถามตามขั้นตอนมาโดยตลอด การดำเนินการในส่วนของการเรียกให้ชดใช้ทุนนั้น เป็นการดำเนินการตามที่ สกอ.ได้มอบอำนาจให้มหาวิทยาลัยมหิดลลงนามในสัญญาผูกพันและชดใช้ทุน และติดตามเรียกให้ชดใช้เงินทุน

ขั้นตอนแรกคือ การเรียกให้ชดใช้เงินจากผู้ผิดสัญญาและผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้ เนื่องจากการค้ำประกันในสัญญาดังกล่าวยังคงเป็นไปตามหลักการเดิม คือ ผู้ทำสัญญาและผู้ค้ำประกันรับผิดร่วมกันในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้มีหนังสือแจ้งให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำประกันทุกคนนำเงินจำนวนที่ต้องรับผิดตามสัญญามาชดใช้ให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ปฏิบัติเป็นปกติเป็นการทั่วไป และปรากฎว่าทั้งอดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำประกันทุกราย มิได้มาชดใช้ภายในระยะเวลาที่กำหนด มหาวิทยาลัยมหิดลจึงต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป คือ ขั้นของการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อใช้สิทธิเรียกให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำประกันแต่ละรายมาชดใช้ มหาวิทยาลัยมหิดลและ สกอ.จึงได้นำคดีขึ้นฟ้องต่อศ่าลปกครองกลางเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำประกันชดใช้เงินให้แก่ทางราชการโดยให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำประกันตามสัญญารับทุนรัฐบาลฯ ร่วมกันหรือแทนกันต้องชดใช้เงินให้แก่ สกอ.เจ้าของทุน จำนวน 196,637.49 บาท กับอีก 666,131.73 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำประกันรับผิดชดใช้เงินตามฟ้อง และเมื่อคดีถึงที่สุดมหาวิทยาลัยมหิดลได้มีหนังสือแจ้งให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำประกันนำเงินมาชำระตามคำพิพากษา แต่อดีตทันตแพทย์มิได้นำเงินมาชำระ ส่วนผู้ค้ำประกันก็รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงขอหารือเรื่องการผ่อนผันต่อไป

ภายหลังศาลมีคำพิพากษา ทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินการติดตามให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำประกันทั้ง 4 รายนำเงินมาชำระตามคำพิพากษา โดยการส่งหนังสือไปยังอดีตทันตแพทย์ที่อยู่ต่างประเทศตามขั้นตอนการติดตามทวงหนี้ ในส่วนของผู้ค้ำประกันทั้ง 4 ราย มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีโอกาสพูดคุยและหารือกันเกี่ยวกับขั้นตอนการชำระหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งในชั้นต้นมหาวิทยาลัยก้ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้ค้ำประกันแล้วว่า ความรับผิดตามคำพิพากษที่ต้องชดใช้ระหว่างอดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำประกันนั้นเสมอกันตามคำพิพากาของศาลปกครองระบุว่า “ร่วมกันหรือแทนกัน” ซึ่งผู้ค้ำประกันทุกรายก็เข้าใจในสถานะดังกล่าว และยังขอความเห็นใจว่าผู้ค้ำประกันแต่ละรายมีเจตนาดีต่ออดีตทันตแพทย์ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลก็เข้าใจดี และจากผลการหารือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นผลให้ผู้ค้ำประกันทั้ง 4 รายได้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันการชำระหนี้ผ่านมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้เสนอความเห็นสนับสนุนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาผ่อนผัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งเป็นผู้พิจารณาให้ทุน) โดยการจัดทำหนังสือเสนออธิการบดีลงนามถึงหน่วยงานเหล่านั้น ซึ่งผู้ค้ำประกันได้ขออ้างอิงเลขหนังสือดังกล่าวเข้าติดตามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้มีโอกาสในการชี้แจงเพิ่มเติม เป็นผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยตามความเห็นของมหาวิทยาลัยมหิดลอนุมัติให้ผู้ค้ำประกันทั้ง 4 รายได้รับการลดหย่อนภาระหนี้และผ่อนชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

มหาวิทยาลัยมหิดลขอเรียนว่า มหาวิทยาลัยเคารพต่อการแสดงความคิดเห็นที่มีต่อกรณีนี้ และขอเรียนว่า

(1) สำหรับคำถามว่า เพราะเหตุใดมหาวิทยาลัยจึงอนุญาตให้อดีตทันตแพทย์รายนี้ลาออกจากราชการ การขอลาออกจากราชการกับการชดใช้เงินทุน เป็นคนละกรณีกัน เพราะการให้ข้าราชการขอลาออกและยังต้องชดใช้ทุนไม่เป็นเหตุให้ยับยั้งการลาออก ตามระเบียบ ก.พ.ว่าด้วยการลาออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ.2551
(2) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นมา ผู้ค้ำประกันได้นำเงินมาชดใช้เสร็จสิ้นทุกคนแล้วสำหรับยอดชดใช้ที่ได้รับการผ่อนผันจาก สกอ. ถือว่าผู้ค้ำประกันทุกรายได้พ้นความรับผิดชอบทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว
(3) สำหรับกรณีการสอบถามถึงการติดตามบังคับทรัพย์สินของอดีตทันตแพทย์รายนี้ ณ ต่างประเทศ ขอนำเรียนว่าการดำเนินการในเรื่องนี้เป็นการดำเนินในคดีแพ่ง และมีมูลกรณีเกิดขึ้นในประเทศไทย บรรดาเจ้าหนี้จึงไม่สามารถติดตามบังคับคดีนอกอาณาจักรได้ สำหรับในการตรวจสอบและขอความร่วมมือจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะตรวจสอบได้ก็ต่อเมื่อมีการดำเนินการให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายและเรื่องนี้อยู่ระหว่างการหารือกับ สกอ.

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวจะเป็นกรณีศึกษาสำหรับการให้ทุนศึกษาต่างประเทศต่อไป

กรมบัญชีกลางยืนยัน ขอทุนรัฐบาลได้โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน

ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและระเบียบการคลัง กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมฯ จะดำเนินการติดตามทรัพย์ โดยการฟ้องบังคับล้มละลาย และเฝ้ารอทรัพย์ที่อาจติดตามได้ในประเทศ ซึ่งมีอายุความ 10 ปี พร้อมแจกแจงแนวทางการคุ้มครองผู้ค้ำประกันที่ไม่ใช่ญาติว่า ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการทำสัญญาและการชดใช้เงิน กรณีการรับทุน ปี 2548 มีระเบียบช่วยผ่อนผัน และลดหย่อนค่าปรับ แต่ผู้ทำผิดสัญญา ยังคงต้องชดใช้เงินตามจำนวนเดิม

ขณะเดียวกันกฎกระทรวง ยังเปิดช่องทางให้ ผู้ต้องการศึกษาต่อต่างประเทศสามารถขอรับทุนการศึกษาจากหน่วยงานราชการได้ โดยไม่ต้องมีบุคคลค้ำประกัน แต่ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหน่วยงานเจ้าของทุน ทำให้เชื่อว่า กรณีอดีตอาจารย์ทันตแพทย์หญิง จะไม่กระทบการค้ำประกัน เพื่อศึกษาต่อรายต่อๆไป

ขณะที่ประธานคณะกรรมการภาษีของสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้การค้ำประกันตาม พ.ร.บ.ค้ำประกันฉบับใหม่ให้ความคุ้มครองและเป็นธรรมต่อผู้ค้ำประกันมากขึ้น แต่ท้ายที่สุด ผู้ค้ำก็จะต้องรับผิดชอบเช่นเคย พร้อมแนะนำว่า หากต้องเป็นผู้คำประกันให้ใคร ต้องเลือกเฉพาะคนในครอบครัวเท่านั้น

ส่วนกรณีอดีตอาจารย์ทุนมหาวิทยาลัยมหิดล หนีการใช้ทุนต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายค้ำประกันฉบับเก่า ซึ่งทางกฎหมายต้องตามจากลูกหนี้ชั้นต้น เเต่เมื่อตามไม่ได้ ผู้ค้ำประกัน ก็ต้องรับผิดชอบเเทน ซึ่งผู้ค้ำสามารถที่จะเจรจาของลดหนี้กับเจ้าหนี้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง