เครือข่ายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ ร้อง กรธ.ปรับร่าง รธน.ฉบับมีชัย พบลิดรอนสิทธิ ปชช.-ชุมชนหลายมาตรา

การเมือง
2 ก.พ. 59
20:48
1,060
Logo Thai PBS
เครือข่ายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ ร้อง กรธ.ปรับร่าง รธน.ฉบับมีชัย  พบลิดรอนสิทธิ ปชช.-ชุมชนหลายมาตรา
เครือข่ายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชี้ร่าง รธน.ฉบับล่าสุดกลับสู่ยุครัฐเป็นใหญ่ พบหลายมาตราลิดรอนสิทธิมนุษยชนและชุมชนเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทั้งปฏิเสธ EHIA ออกกฎห้ามฟ้องหน่วยงานของรัฐ ขณะที่การฟ้องบังคับเรียกค่าเสียหายจากโครงการของรัฐยังคลุมเครือ

วันนี้ (2 ก.พ. 2559) ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นายสัญชัย สูติพันธ์วิหาร อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช. และเครือข่ายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจำนวน 40 คน แถลงเสนอแนะต่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ในประเด็น สิทธิชุมชนและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

โดยทางเครือข่ายฯ ขอให้ทางคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทบทวนบทบัญญัติ เนื่องจากพบว่าในหลายมาตราลดทอนสิทธิมนุษยชนและชุมชน ซึ่งอาจทำให้การป้องปรามเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งมีชุมชนเป็นข้อต่อระหว่างบุคคลกับประเทศในการช่วยตรวจสอบดูแล ไม่เป็นผลตามวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 กับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดปี 2559 ในประเด็นสิทธิ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ของนายสัญชัย พบว่ามีหลายมาตราที่ทางเครือข่ายฯ เป็นกังวล เช่น หมวด 1 บททั่วไป ในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครองนั้น ในร่างรัฐธรรมนูญกลับตัดออกทั้งมาตรา

ขณะที่ มาตรา 26 ว่าด้วยการใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กลับตัดออกทั้งมาตราเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังตัดคำว่า “สิทธิชุมชน ชมชุนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” ออกจากการมีส่วนร่วมจัดการ บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล

รวมถึงตัดคำว่า “สิทธิบุคคล” ในด้านมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกทั้งหมด โดยบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐแทน และจำกัดสิทธิไว้เพียงแค่การร่วมดำเนินการและได้รับผลประโยชน์เท่านั้น 

ส่วนมาตราที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ได้ตัดการประเมินผลผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ออก และบัญญัติโดยไม่คำนึงถึงหลักการป้องกันไว้ก่อน

อีกทั้ง ยังตัดสิทธิการฟ้องร้องโดยสิทธิของชุมชน ที่จะฟ้องหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เช่นเดียวกับการบัญญัติในมาตรา 60 ที่รัฐสามารถดำเนินการตรากฎหมาย กำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ ฯลฯ

“เป็นที่มาของคำถามว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพ จะได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริงในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือไม่ และหลักประกันในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิและเสรีภาพต่อเรื่องทั้งสองคืออะไร ยังมีเรื่องสิทธิชุมชนที่ถูกตัดออกไปอีก ทั้ง ๆ ที่ สิทธิชุมชนเปรียบได้กับยามเฝ้าบ้านที่ช่วยป้องกันคอร์รัปชั่น เพราะประเด็นในข้างต้นมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังอีกหลายส่วน จึงอยากให้ กรธ.ระบุให้ชัดเจน เพื่อจะไม่เกิดปัญหาภายหลัง” นายสัญชัย ระบุ

ด้าน นายไพโรจน์ พลเพชร อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า รูปแบบการบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด เหมือนย้อนยุคไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ที่คำนึงถึงรัฐก่อน ส่วนประชาชนรวมถึงสิทธิประชาชนมาทีหลัง

“น่าเสียดายที่ความพยายามในการขับเคลื่อน เพื่อกระจายอำนาจสู่ประชาชนและท้องถิ่นนานกว่า 20 ปี จะยุติลง เพราะเห็นได้ชัดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติขึ้นเพื่อเพิ่มอำนาจรัฐ และริบสิทธิประชาชนคืน เป็นการเขียนเพื่อแช่แข็งอำนาจให้อยู่ในมือรัฐ ซึ่งการที่รัฐมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการตัดสินใจทุกอย่าง ไม่สามารถบอกได้ว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศได้จริงหรือไม่ แต่ตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องประชาธิปไตยแน่นอน ในเรื่องนี้ คนเมืองอาจไม่ได้รับผลกระทบเพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง แต่ในส่วนของท้องถิ่นในพื้นที่ขัดแย้ง ประชาชนได้รับผลกระทบแน่นอน” นายไพโรจน์ กล่าว

นายศรีสุวรรณ ควรขจร คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) แสดงทัศนะว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย เป็นการบัญญัติให้รัฐเป็นใหญ่ และเอาภาคธุรกิจมาเป็นประชารัฐ ซึ่งถ้าเป็นรูปแบบนี้ ตนคิดว่ารัฐธรรมนูญจะไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ และจะนำไปสู่ความรุนแรง วุ่นวาย จนถึงกลายเป็นความล้มเหลว

ขณะที่ นายอัมรินทร์ สายจันทร์ นักกฎหมาย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า มีข้อกังวลในเรื่องการย้ายหมวดสิทธิเสรีภาพของบุคคลและชุมชนไปเป็นหน้าที่ของรัฐ ขณะที่ผลผูกพันจากการรับรองสิทธิดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ ต่อองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐสภา ครม. ศาล ฯลฯ ก็ถูกตัดออกไป ซึ่งหากเกิดกรณีไม่เป็นธรรมต่อประชาชนหรือชุมชนจากโครงการของรัฐ จึงไม่มั่นใจว่าจะสามารถฟ้องร้องค่าเสียหายได้หรือไม่ เพราะจากการบัญญัติในลักษณะนี้ ไม่มีสภาพบังคับหรือกำหนดให้รัฐต้องทำ แม้จะอ้างว่าให้มาฟ้องร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ความจริงทำได้ยากหรืออาจไม่ได้เลย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทางเครือข่ายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จะนำข้อสรุปที่ได้จากการหารือในวันนี้ นำเสนอต่อทางสมาชิกเครือข่าย เพื่อวางแผนดำเนินการนำข้อท้วงติงเสนอต่อ กรธ. ไป เพื่อให้ กรธ. มีองค์ประกอบจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ดี ทำให้ประชาชนของประเทศมีสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง