บริษัทยอมจบยกที่ดิน 2 งานให้ชาวเลยุติข้อพิพาท ผู้ว่าฯเสนอเป็นที่ดินสาธารณะป้องกันปัญหาซ้ำ

สังคม
3 ก.พ. 59
06:46
279
Logo Thai PBS
บริษัทยอมจบยกที่ดิน 2 งานให้ชาวเลยุติข้อพิพาท ผู้ว่าฯเสนอเป็นที่ดินสาธารณะป้องกันปัญหาซ้ำ
เจ้าของที่ดินราไวย์ยอมยุติข้อพิพาทกับชาวเลภูเก็ต ยกที่ดิน 2 งาน ให้ชาวบ้านเพื่อยุติปัญหาข้อพิพาท เเละยืนยันจะเดินหน้าพัฒนาที่ดินต่อไป

วานนี้ (2 ก.พ.) เวลา 10.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต หน่วยงานภาครัฐ-เอกชนหลายหน่วยงาน ประชุมร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาพิพาทที่ดินหาดราไวย์ระหว่างชาวเลและบริษัท บารอน เวิลด์เทรด จำกัด เช่น พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัยพื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ นายจำเริญ ทิพยพงศ์ธาดา ผู้ว่าฯ ภูเก็ต พ.ต.ท.ประวุฒิ วงศ์สีนิล ผบ.สำนักคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

ซึ่งในที่ประชุมได้ข้อสรุปแนวทางการแก้ปัญหากรณีข้อพิพาททางเดินสาธารณะของชาวเลหาดราไวย์ ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ทั้งหมด 4 ข้อ คือ

1.ทางเดินสาธารณะ ที่ชาวเลอ้างว่าใช้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่ปรากฎชัดในภาพถ่ายทางอากาศ แต่เมื่อตรวจสอบเอกสารสิทธิ์พบว่า เอกสารสิทธิ์ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่จากริมหาดทั้งหมด ทำให้มีเนื้อที่กว้างกว่า 3 เมตร ยาว 250 เมตร ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นทางเดินสาธารณะจากหมู่บ้าน ไปยังบาลายและที่จอดเรือให้กับชาวเลได้

2.หลังจากกันพื้นที่ออกมา จังหวัดจะเสนอขอให้พื้นที่ดังกล่าวออกเอกสารเป็นพื้นที่สาธารณะตามกฎหมาย เพื่อป้องกันปัญหาภายหลัง

3.บริษัทบารอน เวิล เทรด เสนอให้ที่ดิน 2 งาน มูลค่ากว่า 30 ล้านบาทให้กับชาวเล โดยขอให้ชาวเลย้ายบาลาย หรือศาลประกอบพิธีกรรม ออกมาไว้ในที่ดินจุดดังกล่าว เพื่อที่ชาวเลจะได้ไม่ต้องเดินผ่านที่ดิน แต่ข้อเสนอนี้ชาวเลไม่เห็นด้วย เนื่องจากตามความเชื่อไม่สามารถย้ายได้ ชาวเลจึงเสนอให้บริษัทบารอนเปลี่ยนเป็นยกที่ดิน 2 งานบริเวณที่ตั้งบาลาย เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ประกอบพิธีกรรมแทน ซึ่งบริษัทฯขอรับข้อเสนอนี้กลับไปพิจารณา

ส่วนข้อ 4 คือ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่พอใจข้อตกลงทั้งหมด ก็สามารถดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมได้

ต่อมาภายหลังการเจรจร นายชาตรี หมาดสตูล ผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท บารอน เวิลด์เทรด จำกัด กล่าวว่า โฉนดที่ดินที่เป็นข้อพิพาทระหว่างชาวไทยใหม่และบริษัทออกถูกต้องตามกฎหมาย โดยเสนอทางออกด้วยการตัดที่ดิน จำนวน 2 งาน หรือ ประมาณครึ่งไร่ ให้เป็นที่สาธารณะสำหรับชาวไทยใหม่ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ที่บริเวณใกล้กับรอยต่อระหว่างที่ตั้งชุมชนกับที่ดินของบริษัทขณะที่ ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่เข้าร่วมหารือ ระบุว่า พอใจกับข้อตกลงในระดับหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมา ชาวเลต้องการเพียงทางเดินเพื่อใช้ผ่านไปยังชายหาด และการได้ใช้ชีวิตตามวิถีที่เป็นอัตลักษณ์เท่านั้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง