ชี้เอเชีย ล้มเหลวต้านขบวนการค้าสัตว์ป่า ไทย-จีน ปลายทางนำเข้า"งาช้าง"เวียดนาม รั้งอันดับฆ่า-คุกคามเอา"นอแรด"

Logo Thai PBS
ชี้เอเชีย ล้มเหลวต้านขบวนการค้าสัตว์ป่า ไทย-จีน ปลายทางนำเข้า"งาช้าง"เวียดนาม รั้งอันดับฆ่า-คุกคามเอา"นอแรด"

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล เปิดรายงานต้านค้าสัตว์ป่าล้มเหลว ระบุไทยพบกฎหมายมีช่องโหว่เป็นอุปสรรคการป้องกันและปราบปราม

 องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เปิดรายงานฉบับใหม่ พบหลายประเทศในเอเชียล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามขบวนการค้าสัตว์ป่า ขณะที่กรุงเจนีวา ตัวแทนภาครัฐทั่วโลกร่วมหารือถึงวิกฤตการค้าสัตว์ป่า โดยเฉพาะใน 23 ประเทศอัฟกันและเอเชียที่มีการล่าและค้างาช้าง นอแรด และชิ้นส่วนของเสือ ในอัตราสูง

 
รายงานของ WWF เรื่อง การวัดประสิทธิภาพการต่อต้านอาชญากรรมสัตว์ป่า:การประเมินผลการปฏิบัติและมาตรการบังคับใช้ทางกฎหมายตามภาระผูกพันของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส เพื่อการอนุรักษ์เสือ แรด และช้าง ได้จากการตรวจสอบประเทศที่เป็นต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของการค้าสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ 
 
โดยจำแนกเป็นสีเขียว เหลือง และแดง ของสัตว์แต่ละประเภท และมีดัชนีจำแนกข้อมูลว่า แต่ละประเภทนั้นอยู่ในข่ายสุ่มเสี่ยง และได้รับการปกป้องทางกฎหมายมากน้อยเพียงใด WWF พบว่า มีขบวนการค้าสัตว์ป่าที่ทำกันเป็นล่ำสันใน 23 ประเทศ แต่รายงานได้แยกแยะระหว่างประเทศที่มีมาตรการต่อต้านอย่างแข็งขันกับประเทศที่ยังมีความพยายามไม่เพียงพอ
 
จากรายงานยังพบว่า  เวียดนามเป็นประเทศรั้งท้ายโดยติดเรตสีแดงในการออกมาตรการป้องกันและปรามปรามขบวนการคุกคามแรดและเสือ โดยเวียดนามเป็นประเทศปลายทางนำเข้านอแรดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งอุปสงค์ของตลาดเวียดนามเป็นปัจจัยเร่งต่อวิกฤตการล่าแรดในอัฟริกาใต้ 
 
ตามสถิติพบว่า  เมื่อปี 2554 แรดในอัฟริกาใต้ 448 ตัวถูกฆ่าเอานอ  ส่วนประเทศต้นทางอย่างอัฟริกาใต้ ซึ่งติดเรทสีเหลือง มีรายงานการฆ่าแรดเอานอแล้ว 262 ตัวในปีนี้ รายงานฉบับเดียวกันนี้ ยังระบุว่า มีชาวเวียดนามหลายคนถูกจับหรือสร้างปัญหาในอัฟริกาใต้จากการถือครองนอแรดอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งในจำนวนนี้ มีเจ้าหน้าที่ทางการทูตรวมอยู่ด้วย
 
รายงานยังเน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมายการค้างาช้างบ้านของจีน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ชี้ชัดถึงความล้มเหลวในการควบคุมธุรกิจค้างาช้างที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย โดยรายงานระบุว่า งาช้างผิดกฎหมายที่หลั่งไหลเข้าประเทศจีน จะเข้าสู่ช่องทางที่ทำให้งาช้างผิดกฎหมายเป็นงาช้างที่ถูกต้องตามกฎหมายได้
 
รัฐบาลจีนได้รับเสียงเรียกร้องให้เร่งปรับปรุงมาตรการควบคุมการค้างาช้างอย่างรวดเร็วและให้สอดคล้องกับประเทศอื่น พร้อมกับต้องสื่อสารให้ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในทวีปอัฟริกาเข้าใจถึงโทษสถานหนักในการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าผิดกฎหมายสู่ประเทศจีน
 
แต่ละปีมีช้างอัฟริกันหลายหมื่นตัวถูกพรานไล่ฆ่าเอางา โดยมีจีนและไทยเป็นประเทศปลายทางในการลักลอบนำเข้างาช้างอัฟริกันผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นผลให้ไทยติดเรทสีแดงจากความล้มเหลวที่เกิดจากช่องโหว่ทางกฎหมายที่เอื้อต่อธุรกิจค้าปลีกงาช้างที่ได้จากช้างอัฟริกัน
 
“ในประเทศไทย มีการค้างาช้างอัฟกันอย่างเปิดเผยในร้านขายเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านชั้นนำ ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งไปที่ลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ รัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องนี้ และด้วยความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชในภารกิจปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพต่อการการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ดังที่ปรากฎต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง” อลิซาเบธ แมคเอลเลน ผู้จัดการ Global Species Programme WWF สากล กล่าว
 
ทั้งนี้ ช่องโหว่ทางกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าของไทย ยังเป็นเรื่องท้าทาย ประเทศไทยมีสถานภาพทางกฏหมายต่อการค้างาช้างที่มีลักษณะเฉพาะ คือการค้างาช้างที่ได้จากช้างบ้านถือเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ซึ่งในทางปฎิบัติแล้ว กลับเป็นช่องโหว่ที่เอื้อต่อการลักลอบค้างาช้างข้ามชาติ  ซึ่งรัฐบาลไทยยืนกรานในการออกมาตรการที่เข้มแข็งขึ้นเพื่อปกป้องสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์
 
การล่าช้างในอัฟริกากลางอยู่ในข่ายวิกฤต เช่นเดียวกับแรดที่ถูกล่าจนใกล้สูญพันธุ์ เมื่อปีที่แล้ว มีการไล่ฆ่าช้างอัฟริกันมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และต้นปีที่ผ่านมานี้ มีช้างอัฟริกันในอุทยานแห่งชาติแคเมอรูนถูกฆ่าแล้วหลายร้อยตัว รายงานฉบับนี้พบด้วยว่า การล่าช้างในอัฟริกันนับวันแต่จะเพิ่มขึ้นและยกระดับขึ้นเป็นอาชญากรรมที่ทำกันเป็นขบวนการของธุรกิจค้าสัตว์ป่า สถานการณ์ไล่ล่าช้างป่าอัฟริกันจึงเข้าขั้นวิกฤต
 
อาชญากรรมสัตว์ป่าไม่เพียงแต่เป็นภัยคุกคามชีวิตสัตว์แต่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพของมนุษย์ บูรณภาพแห่งดินแดน เสถียรภาพ และหลักนิติธรรม ความร่วมมือในระดับภูมิภาคในอัฟริกากลาง ในการต่อต้านการไหลบ่าของงาช้างผิดกฎหมาย และอาวุธข้ามพรมแดนเป็นมาตรการที่จำเป็น WWF ชื่นชมที่รัฐบาลอัฟริกากลางที่ร่วมลงนามใช้ข้อบังคับทางกฎหมายว่าด้วยการป้องกันชีวิตสัตว์ป่าในระดับภูมิภาค และเรียกร้องให้มีการบังคับใช้โดยทันที พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณ และแก้ไขบทลงโทษให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อเอาผิดกับบุคคลหรือขบวนการที่พัวพันกับการล่าหรือการค้าสัตว์ป่า
 
“แม้ว่า ประเทศในอัฟริกากลางส่วนใหญ่จะติดเรตสีเหลืองหรือแดง ในการป้องกันและปราบปรามการล่าช้าง แต่ที่สุดแล้ว ยังมีสัญญาณที่ดีเกิดขึ้นหลายประการ เมื่อเดือนที่แล้ว ประเทศกาบองเผางาช้างที่ยึดมาได้ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีงาช้างหลุดรอดเข้าสู่ขบวนการค้าสัตว์ป่า รวมทั้งผู้นำประเทศยังได้ให้คำมั่นในการเพิ่มมาตรการป้องกันอุทยานและเพื่อให้แน่ใจได้ว่า อาชญากรสัตว์ป่าจะได้รับโทษอย่างสาสม” เวนดี้ เอลเลียต ผู้จัดการ Global Species Programme WWF สากล กล่าว
 
รายงานของ WWF ยังได้นำเสนอความสำเร็จของประเทศอินเดียและเนปาล ซึ่งติดเรทสีเขียว ในการป้องกันปราบปรามการค้าสัตว์ป่า เมื่อปี 2554 เนปาลฉลองโอกาสที่ตลอด 1 ปีไม่มีรายงานการล่าแรดในประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงมาตรการต่อต้านการล่าสัตว์และการบังคับใช้กฎหมาย
 
 
WWF เปิดรายงานฉบับนี้ ระหว่างคณะกรรมาธิการประจำของประเทศสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส เข้าร่วมประชุมประจำปีที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง