เครือข่ายประชาชนฯค้านร่างพ.ร.บ.แร่ ยื่นคปก.ดันกฎหมายภาคประชาชน

เศรษฐกิจ
2 ส.ค. 55
01:10
11
Logo Thai PBS
เครือข่ายประชาชนฯค้านร่างพ.ร.บ.แร่ ยื่นคปก.ดันกฎหมายภาคประชาชน

 เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา จังหวัดสงขลา กลุ่มป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จังหวัดหนองบัวลำภู กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เครือข่ายอนุรักษ์หินเหล็กไฟ จังหวัดเลย กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำแม่ถอด จังหวัดลำปาง กลุ่มรักษ์บ้านเกิด อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ฯลฯ เข้ายื่นหนังสือ ขอข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.... ต่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยมี นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมายและนายสุขุมพงศ์ โง่นคำ กรรมการปฏิรูปกฎหมายเป็นผู้แทนรับเรื่องดังกล่าวและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการผลักดันดันกฎหมายภาคประชาชน

 
นายไพโรจน์  พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย  เปิดเผยว่า การจัดสรรทรัพยากรเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงให้ผลประโยชน์แก่คนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้หากพิจารณาในแง่อำนาจหน้าที่หนึ่งของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)คือการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างกฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรี จึงเห็นว่าการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวภาคประชาชนควรจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวอีกครั้ง ขณะเดียวกันคปก.พร้อมจะให้คำปรึกษาและสนับสนุนการยกร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชน ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนควรเตรียมการเรื่องการรวบรวมรายชื่อภาคประชาชนเสนอร่างกฎหมายแร่ไว้ด้วย เนื่องจากกระบวนการพิจารณากฎหมายอาจจะช้าหรือเร็วก็ได้ 
 
นายสาวแววรินทร์ บัวเงิน ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนเห็นว่าควรยกเลิกการนำร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ...นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เนื่องจากอำนาจทั้งหมดยังคงอยู่กับข้าราชการ คือรัฐมนตรีและอธิบดีเป็นหลัก โดยอำนาจส่วนใหญ่อยู่ที่รัฐมนตรีแม้ว่าคณะกรรมการแร่ซึ่งส่วนหนึ่งจะมีตัวแทนประชาชนเข้าไปเป็นกรรมการ แต่พบว่ามีอำนาจเพียงแค่เสนอแนะ ให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีเท่านั้น อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดข้อยกเว้นจำนวนมากโดยไม่มีหลักเกณฑ์การพิจารณาที่ชัดเจนเป็นเพียงเรื่องของการใช้ดุลพินิจ นอกจากนี้มาตรการลงโทษทางอาญาพบว่ามีบทลงโทษที่น้อยเกินไป ซึ่งเห็นว่าการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตของประชาชนในวงกว้างควรมีบทลงโทษที่เหมาะสมกับความร้ายแรงของผลที่จะเกิดขึ้นมากกว่านี้ และผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นในระยะยาว ผู้ประกอบการในฐานที่เป็นนิติบุคคลมักจะเพิกถอนไปแล้ว ควรกำหนดความรับผิดเป็นการเฉพาะแก่ผู้ประกอบการด้วย
 
“ควรหยุดสนับสนุนส่งเสริมการทำเหมืองแร่ เนื่องจากปัญหาการทำเหมืองแร่ที่ผ่านมาเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งปัญหามลพิษ ดินทรุด ปัญหาที่ดิน ปัญหาโรคที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ แต่ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงไม่มีหลักประกันใดๆต่อประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ ดังนั้นการออกกฎหมายจึงควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงไม่ใช่เพียงออกแบบโครงสร้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมเท่านั้น แต่ควรบัญญัติกฎหมายโดยนำปัญหาที่เกิดขึ้นและบทเรียนที่ผ่านมาพิจารณาประกอบเป็นสำคัญ” นายสาวแววรินทร์ กล่าว
 
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย กล่าวว่า  อยากให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.... โดยเร็ว และ เห็นด้วยกับการเสนอร่างกฎหมายฉบับประชาชนโดยขอให้คปก.ช่วยสนับสนุนในการยกร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง