7 นวนิวยายเล่มสุดท้ายเข้ารอบรางวัลซีไรต์ กับเนื้อหาสะท้อน "จิตใจเบื้องลึกของมนุษย์"

Logo Thai PBS
7 นวนิวยายเล่มสุดท้ายเข้ารอบรางวัลซีไรต์ กับเนื้อหาสะท้อน "จิตใจเบื้องลึกของมนุษย์"

เป็นที่รอคอยของนักอ่านหนังสือหลังการประกาศผล 7 เล่มสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบรางวัลซีไรต์ ปี 2555 ซึ่งในปีนี้ (2555) ความน่าสนใจของนวนิยายทั้ง 7 เล่ม อยู่ที่การหยิบประเด็นใกล้ตัวอย่างเรื่องจิตใจเบื้องลึกของมนุษย์มาเป็นแก่นของเรื่อง

กลวิธีการเล่าเรื่องที่หยิบยืมจากงานเขียนตั้งแต่วรรณกรรมประวัติศาสตร์จน ถึงนิยายพาฝันสไตล์เกาหลี นำเสนอผ่านความขัดแย้งระหว่างพ่อและลูก ใน "ลักษณ์อาลัย" ของ อุทิศ เหมะมูล เจ้าของรางวัลซีไรต์เมื่อปี 2552 หรือ ภาพความเปลี่ยนแปลงของชนบทสู่สังคมเมือง สะท้อนเรื่องราวของผู้คนและชุมชนบ้านเกิดในนวนิยาย "รอยแผลของสายพิณ" โดย สาคร พูลสุข นักเขียนและครูชาวสงขลา ที่เข้าชิงรางวัลซีไรต์ครั้งนี้เป็นปีแรก 2 จาก  7 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ 2555 ที่สะท้อนความโดดเด่นของผลงานในปีนี้ทั้งด้านเนื้อหาและวรรณศิลป์

โดย อุทิศ เหมะมูล นักเขียนซีไรต์ กล่าวว่า ในภาพรวมพูดถึงเรื่องด้านในของมนุษย์ในสังคมทุกเล่ม เป็นความพยายามที่จะเข้าไปค้นข้างใน อีกอย่างคือเป็นเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับโลกที่ไม่สวยงามนัก หดหู่

ขณะที่ สาคร พูลสุข นักเขียน เผยว่า แก่นเรื่องต้องการนำเสนอความไม่แน่นอนของชีวิตผ่านเรื่องราวของผู้คนที่สืบ ทอดมาเป็นรุ่นๆ และแต่ละรุ่นก็มีพฤติกรรมที่ส่งผลต่ออีกรุ่นหนึ่ง

การเข้าถึงผู้อ่านผ่านเรื่องเล่าเรื่องใกล้ตัวในสังคม ที่แปลกใหม่ด้วยกลวิธีการนำเสนอ รวมถึงภาษาที่ไม่ซับซ้อน กระตุ้นให้ผู้อ่านตั้งคำถามต่อสังคมรอบตัวมากกว่าจะให้คำตอบ คือท่าทีของวรรณกรรมสมัยใหม่ที่น่าจับตา เล่าผ่านวงเสวนาเปิดตัวนักเขียนซีไรต์ 7 เล่มสุดท้ายโดยเจ้าของผลงาน

อุทิศ เหมะมูล กล่าวเสริมว่า ภาษาในวรรณกรรมมีหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องสวยเสมอไป จะตรงไปตรงมา กักขฬะ ก็ได้ แต่ถ้ามันเข้าไปสู่จุดมุ่งหมายที่นักเขียนต้องการจะเล่าได้ก็ตรงจุดประสงค์ มันไม่จำเป็นต้องงามเสมอไป แต่ถ้ามันปลุกเร้าสิ่งที่เราอยากรู้อยากเห็น อยากทำให้คุณเข้าใจชีวิตมากกว่านี้ ก็เป็นพลังอันนึงของวรรณกรรม

ขณะที่ รศ.ทวีศักดิ์ ปิ่นทอง นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ระบุว่า ทิศทางของนวนิยาย ตอนนี้เราหลุดพ้นจากแนววรรณกรรมเพื่อชีวิต หนังสือที่เข้ารอบชิงซีไรต์ปีนี้เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือนักเขียนมีชั้นเชิง ในการแต่งสูง ใช้ศิลปะการประพันธ์ที่จะทำให้คนหยิบมาอ่าน

นอกจาก "รอยแผลของสายพิณ" และ "ลักษณ์อาลัย" ยังมี "เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง" ของแดนอรัญ แสงทอง ที่นำผู้หญิงในพระพุทธศาสนามาเป็นตัวละครหลัก การบอกเล่าถึงสัตว์ร้ายในใจมนุษย์ "ในรูปเงา" ของเงาจันทร์ หรืออำไพ สังข์สุด นวนิยายที่ได้แนวคิดจากหนังสยองขวัญใน "คนแคระ" ของวิภาส ศรีทอง ความรักและความขัดแย้งในใจมนุษย์ใน "เรื่องเล่าในโลกดวงตา" ของพิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ และ "โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า" ของศิริวร แก้วกาญจน์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง