กรมศิลปากรวางแผนบูรณะ "พระปรางค์วัดอรุณฯ" ในปี 2557

Logo Thai PBS
กรมศิลปากรวางแผนบูรณะ "พระปรางค์วัดอรุณฯ" ในปี 2557

ประติมากรรมประดับพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามอาจเสื่อมสภาพ และ หลุดร่อนไปบ้างในส่วน แต่ผู้เชี่ยวชาญมั่นใจว่า ทำการอนุรักษ์ได้ไม่กระทบกับโบราณสถานที่เป็นสัญลักษณ์ของพระนคร โดยมีแผนจะบูรณะครั้งใหญ่ในแผนงานงบประมาณปี 2557

 

<"">
 
<"">

แรงลม และ ฝนที่ตกต่อเนื่องตลอดช่วงที่ผ่านมาทำให้พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหารเสื่อมสภาพเร็วขึ้นจนประติมากรรมปูนปั้นส่วนหัวม้าบนยอดพระปรางค์บริวารด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือหักร่วงเสียหาย กรมศิลปากรสำรวจเบื้องต้นพบว่า มีประติมากรรมลอยตัวประดับองค์พระปรางค์อายุกว่า 100 ปีแตกหัก 2 ชิ้น ซึ่งคาดว่า ต้องใช้เวลาบูรณะซ่อมแซมกว่า 3 เดือน เนื่องจากส่วนที่ชำรุดอยู่สูงเกือบ 20  เมตรต้องสร้างนั่งร้านเพื่อทำการบูรณะ โดยต้องคัดลอกรูปแบบจากปรางค์ทิศอื่น ก่อนปั้นเสริมส่วนที่ขาดเชื่อมกับโครงสร้างเดิมโดยใช้วัสดุปูนหมักแบบโบราณ

นับจากวันที่พระปรางค์วัดอรุณสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2394 เท่ากับโบราณแห่งนี้อยู่กลางแดดกลางฝนมากว่า 160 ปี ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่เรงให้โบราณสถานชำรุดเสียหายเร็วขึ้น คือ ปัญหาความชื้นที่ทำให้เกิดเชื้อรา ตะไคร่น้ำ รวมถึงวัชพืช โดยที่ผ่านมามีการล้างทำความสะอาดครั้งใหญ่ใช้งบกว่า 44 ล้านบาทไปเมื่อ 15 ปีมาแล้ว

คราบดำหมองที่เกิดจากการสะสมของเชื้อรา ตะไคร่น้ำ และ ไลเค่น จับบนผิวองค์พระปรางค์เกือบทั้งหมด แม้ไม่ส่งผลต่อโครงสร้างหลัก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อมั่นว่า ยังแข็งแรงเพราะเคยมาตรวจสอบพร้อมการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี 2540 แต่มีผลต่อพื้นผิวโบราณสถานที่ทำให้สึกกร่อน ลวดลายประดับหลุดร่อนเร็วขึ้น หากการล้างชำระคราบทำความสะอาด หรือ ทำการบูรณะตามโบราณสถานขนาดใหญ่ต้องเว้นระยะไม่น้อยกว่า 25 ปี เนื่องจากการบูรณะแบบเต็มองค์ต้องติดตั้งนั่งร้านเป็นเวลานานมีผลต่อทัศนวิสัยในการแลเห็นองค์พระปรางค์

 

<"">
 
<"">

ขณะที่การขัดล้างทำความสะอาดพระปรางค์วัดอรุณฯต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญขัดล้างด้วยน้ำเปล่าไม่เหมาะจะลงน้ำยาเคมีกันเชื้อราเช่นเดียวโบราณสถานอื่น โดยจะมีการประเมินงบประมาณเพื่อทำการบูรณะอีกครั้ง คาดว่า อาจต้องใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 11 ล้านบาทเพื่อซ่อมแซมปูนปั้นงานประดับเซรามิก รอยหมองต่างๆ ซึ่งจะดำเนินการราวปี 2557

พระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นโบราณสถานสำคัญของวัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหารสร้างในปี 2363 แล้วเสร็จในปี 2394 โดดเด่นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรม ผสมผสานประติมากรรมต่างๆ เช่น ยักษ์ ม้า และช้าง รวมถึงประดับด้วยเครื่องถ้วยกระเบื้องโบราณรอบองค์พระปรางค์ ที่ผ่านมาพบปัญหาการหลุดร่อนของงานประดับ จึงมีการซ่อมแซมอยู่เสมอ

หลังน้ำท่วมใหญ่ปีที่แล้วทำให้ทางวัดเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะเคยมีการทรุดตัวของลานวัด เกิดจากปัญหาทรายสไลด์ ซึ่งซ่อมแซมเรียบร้อย พร้อมตรวจสอบว่า ไม่มีผลกระทบกับโครงสร้างพระปรางค์แน่นอน โดยระหว่างนี้กรมศิลปากรจะสำรวจเพิ่มเติมเพื่อบันทึกความเสียหายไว้ในแผนบูรณะที่จะเสนอผ่านงบประมาณในปี 2557      


ข่าวที่เกี่ยวข้อง