"แก้วสรร" ยืนยันข้อมูลซีทีเอ็กซ์เพียงพอฟ้องคดี

การเมือง
22 ส.ค. 55
14:29
8
Logo Thai PBS
"แก้วสรร" ยืนยันข้อมูลซีทีเอ็กซ์เพียงพอฟ้องคดี

การเลื่อนปิดสำนวนคดีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด หรือ ซีทีเอ็กซ์ 9000 ของกรรมการ ป.ปช. ไปเป็นสัปดาห์หน้า เพราะต้องพิจารณาหลักฐานใหม่ที่กรรมการ ป.ป.ช.เพิ่งรับทราบนั้น อดีตกรรมการ ป.ป.ช.เชื่อว่าหลักฐานที่ได้รับมีความสำคัญต่อการตัดสินใจในการที่จะส่งฟ้องหรือไม่ ขณะที่อดีตคณะกรรมการ คตส. ซึ่งเคยตรวจสอบเรื่องนี้ยืนยันว่าหากพิจารณาเฉพาะส่วนของราคา ซึ่งพบว่าแพงกว่าเครื่องที่ใช้ในต่างประเทศ ก็สามารถเอาผิดผู้เกี่ยวข้องได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปสืบหาว่าเงินส่วนเกินไปตกอยู่กับใคร

มติที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เมื่อวานนี้ ที่ให้เลื่อนสรุปสำนวนข้อกล่าวหาคดีทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 จำนวน 26 เครื่อง เนื่องจากพบว่ามีการจัดซื้อจัดจ้างแพงกว่าปกติ จากเครื่องละ 1,400 ล้านบาท เป็น 2,600 ล้านบาท หลังพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีก 7 คน และต้องแปลเอกสารเป็นภาษาไทย

นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ หรือ คตส. ซึ่งรับผิดชอบคดีซีทีเอ็กซ์ เปิดเผยว่า คดีนี้ คตส.เพียงพิจารณาว่าราคาเครื่องสูงเกินจริง ประมาณ 1,000 ล้านบาทเมื่อเทียบกับเครื่องที่ใช้ในต่างประเทศ ก็น่าจะเพียงพอที่ชี้ชัดว่าโครงการนี้ไม่โปร่งใส สามารถสั่งฟ้องได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าเงินส่วนต่างของอุปกรณ์จะตกอยู่กับใคร

ขณะที่นายเมธี ครองแก้ว อดีตคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นผู้นำหลักฐานเอกสารจากทางการสหรัฐฯ มอบให้กรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา กล่าวว่า การเลื่อนพิจารณาของกรรมการ ป.ป.ช. ออกไปเป็นสัปดาห์หน้านั้นเป็นเรื่องน่าเห็นใจ เพราะข้อมูลบางอย่างในเอกสารนั้น กรรมการ ป.ป.ช. ไม่เคยรับทราบมาก่อน และการพิจารณาหลักฐานใหม่นี้จะทำให้กรรมการมีความมั่นใจมากขึ้น ไม่ว่าจะสรุปสำนวนไปในแนวทางใดก็ตาม ส่วนจะตัดสินใจส่งฟ้องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ ป.ป.ช.แต่ละคน

สำหรับกฎหมายที่นำมาใช้ในคดีนี้ หากพิจารณาเฉพาะ การกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ กฏหมายฮั้ว ก็มีน้ำหนักต่อคดีมากพอสมควร

นายวิชัย วิวิตรเสวี กรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันว่าจะลงมติคดีนี้ ในวันที่ 28 สิงหาคมนี้แน่นอน ซึ่งจะมีบทสรุป 2 แนวทาง คือ กรรมการ ป.ป.ช. ส่งฟ้องเอง หรือยกคำร้อง ทั้งนี้ จะพิจารณาประเด็นมีเจ้าหน้าที่ทุจริต ประพฤติมิชอบ และเกิดความเสียหายหรือไม่อย่างไร

แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. ยอมรับว่ากรรมการที่พิจารณาคดีนี้มีความเห็นแตกต่างกันว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ โดยบางส่วนเชื่อว่าหลักฐานที่มีอยู่สามารถเอาผิดผู้เกี่ยวข้องได้แล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง