อัยการเลื่อนสั่งฟ้อง "ปลอดประสพ" คดีส่งเสือโคร่งไปจีน

การเมือง
24 ส.ค. 55
07:48
12
Logo Thai PBS
อัยการเลื่อนสั่งฟ้อง "ปลอดประสพ" คดีส่งเสือโคร่งไปจีน

ทนายความนายปลอดประสพ สุรัสวดี เข้ายื่นหนังสือขอเลื่อนมาฟังคำสั่งของอัยการในฐานความผิดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีส่งเสือโคร่ง 100 ตัวไปยังสวนสัตว์ในประเทศจีน โดยให้เหตุผลว่าติดสมัยประชุมรัฐสภา ขณะที่อัยการเตรียมประสานกลับไปยัง ปปช.เพื่อกำหนดวันสั่งฟ้องใหม่อีกครั้ง

นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ทางอัยการสูงสุดได้รับการประสานจากทนายความของนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าจะขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) มีมติชี้มูลความผิด นายปลอดประสพ เมื่อสมัยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้ มีความผิดวินัยร้ายแรง และความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการอนุญาตให้บริษัท ศรีราชาไทเกอร์ ซู จำกัด ส่งออกเสือโคร่งจำนวน 100 ตัว ไปยังสวนสัตว์ซันหยา ไมตรี คอนเซ็ปท์ จำกัด ซึ่งเป็นสวนสัตว์ของเอกชน ในประเทศจีน ว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อการศึกษาวิจัย แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่เข้าข่ายเอื้ออำนายให้กับการค้าขายสัตว์ป่าของภาคเอกชน และปปช.ส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้องคดีตามขั้นตอนกฏหมาย

โดยนายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ระบุว่า นายปลอดประสพ ให้เหตุผลว่าอยู่ระหว่างสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งขั้นตอนจากนี้ไปอัยการสูงสุดจะทำหนังสือหารือกลับไปยัง คณะกรรมการ ปปช.เพื่อกำหนดวันนัดในการนำตัวนายปลอดประสพ มาส่งตัวพร้อมสำนวนคดีต่อศาลตามกฎหมาย โดยคดีนี้ อัยการสูงสุด ได้ร่างคำฟ้องเตรียมไว้พร้อมแล้วสามารถส่งฟ้องได้ทันที พร้อมยืนยันว่า คดีนี้อัยการสูงสุด ดำเนินการตามขั้นตอนกฏหมายปกติ ไม่ได้ล่าช้าหรือเร่งรัด

คดีนี้ ปปช.ได้มีมติเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2550 เห็นว่านายปลอดประสพ มีความผิด เนื่องจากการไต่สวนของคณะอนุกรรมการฯ มุ่งประเด็นการไต่สวนว่าการส่งออกเสือครั้งนั้นเป็นไปเพื่อการค้าหรือไม่ เพราะนายปลอดประสพ ยอมใช้อำนาจอธิบดีกรมป่าไม้ลงนามอนุมัติให้บริษัท ศรีราชา ไทเกอร์ซู จำกัด ส่งออกเสือโคร่ง 100 ตัว ไปประเทศจีนในนามของกรมป่าไม้ เพื่อให้เห็นว่า การส่งออกเสือดังกล่าวเป็นไปเพื่อกิจการสาธารณะ ทั้งที่ความจริงเป็นการส่งออกเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของบริษัทเอกชนต่อเอกชน ซึ่งเป็นการเลี่ยงกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 ที่ห้ามไม่ให้เอกชนส่งสัตว์สงวน เว้นแต่จะกระทำในนามของรัฐบาลต่อรัฐบาล เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยทางวิชาการ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง