นักวิชาการ ยังร้องให้รัฐฯ ทบทวนโครงการรับจำนำข้าว ชี้ ทำลายกลไกตลาด

เศรษฐกิจ
11 ก.ย. 55
07:25
66
Logo Thai PBS
นักวิชาการ ยังร้องให้รัฐฯ ทบทวนโครงการรับจำนำข้าว ชี้ ทำลายกลไกตลาด

นักวิชาการบางส่วนยังคงประสานเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการรับจำนำข้าว เพราะเห็นว่าการใช้เงินงบประมาณมหาศาลตั้งราคาข้าวสูงกว่าราคาตลาดเกือบร้อยละ 50 ทำลายกลไก และอุตสาหกรรมข้าวของไทย ขณะที่รัฐบาลก็ยังเดินหน้า โดยจะเริ่มเปิดรับจำนำรอบใหม่ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ภายใต้เงื่อนไขเดิม คือ รับจำนำข้าวทุกเมล็ด

ในงานเสวนาเวทีประชาคมข้าวไทย อนาคตตลาดส่งออกข้าวไทย ซึ่งจัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มีทั้งนักวิชาการ และตัวแทนชาวนาเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

สิ่งที่วงเสวนาเห็นสอดคล้องกัน คือ นโยบายรับจำนำข้าว ของรัฐบาล ที่ตั้งราคาสูงกว่าราคาตลาดเกือบร้อยละ 50 บั่นทอนอุตสาหกรรม และทำให้กลไกตลาดซื้อขายข้าวในประเทศถูกทำลาย ทั้งตลาดกลาง  ท่าข้าว และโรงสีชุมชม และในความเป็นจริง ชาวนาไม่สามารถขายข้าวได้ตามราคาที่รัฐบาลตั้งไว้ ขณะที่ในภาคส่งออก ราคารับจำนำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาด ยิ่งทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น และนโยบายรับจำนำกลับเอื้อประโยชน์ให้กับคู่แข่ง

นายอัทธ์ พิศาลวาณิช ระบุว่า การตั้งราคาที่สูง จะยิ่งทำให้เกิดช่องว่างของราคาข้าวที่แตกต่างกัน ซึ่งหากรัฐบาลจะช่วยชาวนา อาจจะนำเงินไปช่วยโดยตรง แต่ไม่ใช่การตั้งราคารับจำนำข้าวที่สูงมาก ซึ่งในช่วง 12 ปีนี้ ตั้งแต่ 2544 - 2556 รัฐใช้เงินอุดหนุนแทรกแซงราคาข้าว ในโครงการรับจำนำข้าวถึง 1 ล้าน 3 แสนล้านบาท พร้อมแนะว่าหากนำเงินจากโครงการรับจำนำมาปฏิรูปที่ดิน และระบบชลประทาน จะเป็นประโยชน์กับชาวนามากกว่า ขณะที่รองศาตราจารย์ สมพร อิศวิลานนท์ แนะว่ารัฐควรทบทวนโครงการรับจำนำ โดยลดขนาดโครงการ ด้วยการลดปริมาณรับจำนำและลดลงวงเงิน พร้อมกับสร้างความร่วมมือผู้ส่งออกทำตลาด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง