ความอยู่รอดของกีตาร์"เฟนเดอร์" หลังยุค"บุปผาชน-เจนฯเอ๊กซ์"

Logo Thai PBS
ความอยู่รอดของกีตาร์"เฟนเดอร์" หลังยุค"บุปผาชน-เจนฯเอ๊กซ์"

จากอดีตที่เคยเป็นผู้นำในการส่งออกกีตาร์ไฟฟ้าไปทั่วโลก วันนี้ผู้ผลิตกีตาร์ไฟฟ้าเฟนเดอร์ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธิ์ทางธุรกิจ เพื่อดำรงสถานะการเป็นผู้ผลิตเครื่องดนตรีชั้นนำของโลก ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยและรสนิยมดนตรีที่เปลี่ยนไป

ตั้งแต่ดนตรีร็อกยุคบุปผาชนรุ่งเรือง จนถึงกระแสดนตรีกรันจ์ของเจเนเรชั่นเอ็กซ์ ทุกการเปลี่ยนแปลงทางดนตรีล้วนมีกีตาร์เฟนเดอร์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งความสำเร็จ ของศิลปินเสมอ แต่วันนี้บริษัทผู้ผลิตกีตาร์ไฟฟ้าชั้นนำของโลกกำลังประสบปัญหาธุรกิจ จนถึงกับวางแผนที่จะจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนเมื่อตอนต้นปี เพื่อนำทุนจากการขายหุ้นมาจุนเจือกิจการ

ยอดขายกีตาร์ที่มีจำนวนลดลงมาจากรสนิยมทางดนตรีที่เปลี่ยนไป จากที่เคยเป็นพระเอกในยุค 70 หรือ 80 วันนี้ในยุคที่ดนตรีแดนซ์และฮิปฮอปครองตลาด คนรุ่นใหม่หันมาสนใจกับเทิร์นเทเบิลและซินธีไซเซอร์ หลายคนที่เคยคลั่งไคล้กีตาร์จากเกมกีตาร์ฮีโรก็หันมาสร้างดนตรีบนแลปทอป ไม่ต่างจากการเสื่อมความนิยมของหีบเพลงชักซึ่งเคยเป็นเครื่องดนตรียอดนิยมใน สหรัฐฯ ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มาก่อน

สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยทำให้กีตาร์ไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยได้รับผลกระทบ วิกฤตหนี้ยูโรโซนส่งผลต่อยอดส่งออกของเฟนเดอร์ในยุโรป ขณะที่ยอดจำหน่ายเครื่องดนตรีในสหรัฐปีที่ผ่านมาก็ตกต่ำ กระทบต่อกิจการร้านดนตรีถ้วนหน้า โดยเฉพาะบนถนนสาย 48 ของแมนฮัตตันที่เคยขึ้นชื่อในฐานะแหล่งเครื่องดนตรีสำคัญของนิวยอร์ก ก็ต้องย้ายที่อยู่หรือปิดกิจการเนื่องจากสู้ค่าเช่าและคู่แข่งที่ค้าขายทาง เว็บไซต์ไม่ได้

คู่แข่งของเฟนเดอร์ทุกวันนี้กลับไม่ใช่ผู้ผลิตแบรนด์ดัง แต่เป็นกีตาร์ราคาถูกที่ผลิตในจีน หรือจากญี่ปุ่นอย่าง Yamaha ที่ครั้งเปิดตัวในยุค 70 แทบไม่เป็นที่ต้องการของตลาด แต่การพัฒนาทำให้กีตาร์และเบสแดนปลาดิบที่นอกจากราคาจะไม่แพง ยังมีคุณภาพไม่ต่างกัน รวมถึงคู่แข่งที่คาดไม่ถึงอย่างเฟนเดอร์รุ่นลายครามซึ่งคนในวงการเชื่อว่า เหนือกว่าด้วยน้ำเสียงเป็นเอกลักษ์ โดย ริค บาร์ริโอ ดิล มือเบสวง Vintage Trouble เผยว่าเขาเคยซื้อเบสเฟนเดอร์ปี 1969 เมื่อปี 1999ในราคา 30,000 บาท ก่อนจะขายต่อใน 4 ปีถัดมาด้วยราคา 70,000 บาท ตอนนี้พอจะกลับไปซื้อรุ่นดังกล่าว ราคากลับพุ่งไปถึง 200,000 บาท

ที่ผ่านมาเฟนเดอร์พยายามปรับกลยุทธ์ด้วยการออกแบรนด์ในราคาย่อมเยาว์และหัน มาผลิตกีตาร์โปร่ง ตลอดจนพยายามขยายตลาดไปยังจีนและอินเดีย แม้แผนการเข้าตลาดหุ้นของเฟนเดอร์จะถูกวิจารณ์ว่าพยายามสร้างภาพองค์กรที่ กำลังเติบโตทั้งๆ ที่ยอดขายถดถอย แต่บริษัทกีตาร์ยักษ์ใหญ่ซึ่งมีกำหนดชำระหนี้กว่า 7,000 ล้านบาทภายในปี 2014 ต้องพิจารณาทุกทางเลือกเพื่อความอยู่รอดในวงการอย่างสมศักดิ์ศรีต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง