ผู้เสียหายทางการแพทย์ชนะคดีฟ้องกรมอนามัย

18 ต.ค. 55
14:48
714
Logo Thai PBS
ผู้เสียหายทางการแพทย์ชนะคดีฟ้องกรมอนามัย

เกือบ 8 ปี ที่นายบัญชา ดาวกระจาย เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับภรรยาที่เสียชีวิตเพราะการขูดมดลูก แต่การรอคอยความยุติธรรมไม่สูญเปล่า เมื่อล่าสุดศาลฎีกาได้ตัดสินยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าสาเหตุการเสียชีวิตของภรรยาเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของแพทย์โรงพยาบาลสังกัดกรมอนามัย และมีคำสั่งให้จ่ายเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น

คำบอกเล่าของ บัญชา ดาวกระจาย ที่อุทิศบุญกุศลให้กับนางณิชาภัทร อดีตภรรยา เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ศาลฎีกาพิพากษาให้เขาชนะคดีหลังยื่นฟ้องกรมอนามัย หน่วยงานต้นสังกัดของโรงพยาบาลแม่และเด็กใน จ.นครสวรรค์ ที่เป็นต้นเหตุให้อดีตภรรยาของเขาเสียชีวิต

วันที่ 7 กันยายน 2547 นางณิชาภัทรเพิ่งรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน แต่จากการอัลตร้าซาวด์ กลับไม่มีตัวเด็ก หรือที่เรียกว่าไข่ฝ่อ แพทย์สูตินารีเจ้าของไข้ จึงนัดให้นางณิชาภัทรมาขูดมดลูกในสัปดาห์ถัดมา แต่ปรากฏว่าแพทย์ที่ขูดมดลูกให้เป็นแพทย์ฝึกหัด ทำให้นางณิชาภัทรตกเลือดมาก เนื่องจากมดลูกทะลุ แพทย์เจ้าของไข้ จึงตัดสินใจตัดมดลูก ขณะที่ความดันไม่ปกติ และเสียเลือดมาก ในที่สุดเธอก็เสียชีวิตในวันที่ 14 กันยายน 2547 ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว และไตวาย

บัญชา จึงฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง แต่เขาไม่ละความพยายามยื่นฟ้องศาลอุทธรณ์ ซึ่งพิพากษากลับให้เขาชนะคดี และสุดท้ายศาลฎีกาก็พิพากษายืนตามคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ โดยเห็นว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของแพทย์ และสั่งให้โรงพยาบาลชดใช้ค่าเสียหายให้กับครอบครัวบัญชาเป็นเงิน 735,000 บาท ซึ่งเขายอมรับว่าดีใจที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับอดีตภรรยาได้สำเร็จ แม้ต้องรอคอยมานานถึง 8 ปีเต็ม

ปัจจุบัน บัญชาเออรี่รีไทร์มาอยู่ดูแลลูกชายซึ่งเกิดกับกับภรรยาที่เสียชีวิต โดยย้ายอยู่ที่ จ.พิษณุโลก กับภรรยาใหม่ และมีครอบครัวที่อบอุ่น ซึ่งต่างฝ่ายต่างคอยเป็นกำลังใจให้กัน และกัน คอยให้คำปรึกษาในการต่อสู้คดีมาตลอด

บัญชาเตรียมนำเงินที่ได้ 735,000 บาท มาแบ่งเป็นทุนการศึกษาให้กับลูก และมอบให้กับครอบครัวของนางณิชาภัทร แม้เงินจำนวนนี้ อาจเทียบไม่ได้กับชีวิตของอดีตภรรยา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ยอมรับว่าคดีนี้ทำให้ผู้เสียหายทางการแพทย์มีความหวังขึ้นอีกครั้งในรอบ 2ปี หลังจากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขโดยเร็ว เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์ และคนไข้

ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ระบุว่า ขณะนี้ยังมีผู้ป่วย และญาติจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งอุปสรรคสำคัญคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเอื้อประโยชน์กัน เช่น พบการปรับเปลี่ยนเวชระเบียนการรักษาแล้วนำพยานทางการแพทย์เบิกความให้สอดคล้องกัน ประชาชนจึงยากที่จะได้รับความเป็นธรรม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง