"จากตาเราสู่ใจเขา" นิทรรศการภาพถ่ายสำหรับผู้พิการทางสายตา

Logo Thai PBS
"จากตาเราสู่ใจเขา" นิทรรศการภาพถ่ายสำหรับผู้พิการทางสายตา

เมื่อภาพถ่ายถูกสร้างสรรค์เป็นประติมากรรมปูนปั้น การเข้าถึงงานศิลปะจึงไม่ถูกจำกัดเพียงเรื่องการมองเห็น เพราะความงดงามนั้นสามารถสัมผัสได้ด้วยมือ ในนิทรรศการภาพถ่ายสำหรับผู้พิการทางสายตา "จากตาเราสู่ใจเขา"

เหล่านางรำที่ซ้อนแขนเรียวงาม ในการแสดงชุดกวนอิมพันมือ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถูกสร้างสรรค์เป็นประติมากรรมปูนปั้นนูนต่ำ โดย นนทิวรรธน์ จันทนะผลิน ศิลปินแห่งชาติเปลี่ยนการรับรู้ความงามของภาพถ่ายด้วยสายตา ให้สามารถใช้มือสัมผัสรายละเอียดได้ในทุกองค์ประกอบ

ทั้งเรียวแขน ใบหน้า และเครื่องประดับของนางรำ ที่ปั้นออกมาตื้นลึกได้อย่างสมจริง ก้าวข้ามขีดจำกัดด้านการมองเห็นของผู้เสพงานศิลป์ ในนิทรรศการภาพถ่าย "จากตาเราสู่ใจเขา" ครั้งแรกในประเทศไทย ที่คนทั่วไปและผู้พิการทางสายตาจะได้มีโอกาสชมงานศิลปะด้วยประสบการณ์แบบเดียวกัน

<"">
<"">

 
<"">
<"">

 

"ผมว่าโลกในจินตนาการของคนตาบอดอาจจะสวยกว่าพวกเราก็ได้ ไม่มีใครรู้ แต่ว่าสิ่งที่พวกเราพยายามทำกันอยู่ในตอนนี้ คือ พยายามใส่เมล็ดพันธุ์ที่ไปเสริมสร้างให้จินตนาการของเขา ให้มีองค์ประกอบของความเป็นจริงอยู่บ้าง เราอยากจะถ่ายทอดสิ่งที่เราเห็นผ่านกล้อง ให้กับคนตาบอดได้รับรู้ แต่ว่าคนตาบอดไม่ได้รับรู้ผ่านทางตา คนตาบอดรับรู้ผ่านการสัมผัส แล้วทั้งการสัมผัสและดวงตามันจะไปลงอยู่ที่เดียวกัน คือ ที่ในใจของเขา" สุกรี สินธุภิญโญ ช่างภาพอิสระกลุ่ม Escape ผู้ริเริ่มจัดนิทรรศการ จากตาเราสู่ใจเขา

"เพราะว่าเรามองภาพถ่ายเป็นลักษณะสองมิติ เราเข้าไปไม่ได้ แต่งานประติมากรรมเราถ่ายทอดมา ทำให้รู้สึกว่าเข้าไปได้ สามารถเดินลึกเข้าไปได้ ในส่วนที่เป็นน้ำหนักเข้ม เราก็จะใช้วิธีทำให้เกิดเจาะลงไป ทำให้เกิดเป็นน้ำหนักลึกลงไปเป็นน้ำหนักเข้ม ในส่วนที่เป็นแสง เราก็จะให้เป็นอะไรที่นูนออกมา" มานะ เอี่ยมวัฒนะ อาจารย์ภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร

ภาพคนบนหลังช้างที่กำลังพ่นน้ำท่ามกลางแม่น้ำสายใหญ่ แสดงความผูกพันระหว่างช้างกับคนได้อย่างชัดเจน หากสิ่งสำคัญของการถ่ายทอดลงบนปูนปั้น คือการสร้างพื้นผิวให้สมจริง ทั้งการวาดลวดลายที่หยาบกร้านของผิวช้าง และทำให้ผิวน้ำดูเคลื่อนไหว เพื่อให้ผู้พิการทางสายตารับรู้ถึงความแตกต่าง ซึ่งภาพทั้งหมดที่คัดเลือกมาสร้างสรรเป็นประติมากรรม ต้องมีความงดงามด้วยรูปทรงมากกว่าสีสันที่จับต้องไม่ได้

ปกติเราจะเห็นผู้พิการทางสายตาอ่านหนังสือด้วยอักษรเบรลล์ แต่ครั้งนี้พวกเขาจะได้รับรู้ภาพถ่ายด้วยการสัมผัสจากประติมากรรมนูนต่ำ ซึ่งก็จะแตกต่างกันในแง่ของความรู้สึก

ภาพที่มีรายละเอียดซับซ้อน อาจเป็นอุปสรรคต่อผู้พิการทางสายตาอยู่บ้าง แต่สำหรับ พีรพงศ์ จารุสาร ผู้พิการทางสายตาโดยกำเนิด บอกว่า นิทรรศการครั้งนี้ช่วยต่อเติมจินตนาการจากประสบการณ์เดิมที่มี ช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่จะได้สัมผัสกับงานศิลปะ ที่เพิ่มพื้นที่การรับรู้ให้พวกเขาโดยเฉพาะ

<"">
<"">

 

"จากตาเราสู่ใจเขา ทำให้คนตาบอดเองได้เปิดหูเปิดตา ได้เปิดใจ แล้วก็ได้สัมผัสถึงความงาม อย่างเมื่อสักครู่นี้ ผมได้คลำภาพฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งเป็นภาพกวนอิมพันมือ และผมก็ได้สัมผัสจริงๆว่า หน้าผู้หญิงวึ่งเป็นหน้ากลมๆที่เราเคยได้รับฟังมาจากเพื่อนว่าผู้หญิงต้องหน้ากลมนะ หมวยๆนี่หน้ากลม พอได้คลำในภาพ อ้อ ก็หน้ากลมจริงๆ ก็ตอกย้ำจินตนาการตรงนี้ได้ว่า อ้อ มันเป็นอย่างนี้นี่เองครับ" พีรพงศ์ จารุสาร เลขาธิการสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

ผลงานในนิทรรศการ ยังมีภาพถ่าย เรือสุพรรณหงส์ ฝีมือ ศิลปินแห่งชาติ สาขาภาพถ่าย ยรรยงโอฬาระชิน ลวดลายอันอ่อนช้อยถ่ายทอดลงบนปูนปั้นโดยเข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาประติมากรรม ภาพถ่ายและงานปั้นทั้ง 67 ชิ้น ยังเป็นผลงานช่างภาพมืออาชีพ กลุ่มช่างภาพอิสระ Escape คณาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชาประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร หวังให้เป็นจุดเริ่มต้นของความเท่าเทียมที่สร้างได้ และก้าวข้ามขีดจำกัดด้านการมองเห็นไปพร้อมๆกัน กับนิทรรศการ จากตาเราสู่ใจเขา ที่ ศูนย์การค้า Terminal 21 ถึง 18 พฤศจิกายนนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง