"ลุงเง็ก อูรักลาโวยจ"รองเง็งคณะสุดท้ายของชาวเลราไวย์

Logo Thai PBS
 "ลุงเง็ก อูรักลาโวยจ"รองเง็งคณะสุดท้ายของชาวเลราไวย์

ภาษาอูรักลาโวยจที่คนรุ่นใหม่แทบไม่ใช้สื่อการกัน ทำให้เสียงดนตรีและบทเพลงของชาติพันธุ์ชาวเล อย่างรองเง็งใกล้จะสูญไปด้วย แม้มีแนวคิดถ่ายทอดให้กับเยาวชนในพื้นที่ แต่ยังขาดปัจจัยมาปรับปรุงเครื่องดนตรีและจัดชั่วโมงเรียนในชุมชน

                                

<"">

ทักษะในการจับจังหวะ จดจำเสียงดนตรี และฝึกฝนเพิ่มเป็นเท่าตัว ทำให้ครูเพลงพื้นบ้านวัย 74 ปี หริ ฟองสายธาร เป็นเพียงไม่กี่คนที่สีซอหรือไวโอลิน แล้วขับร้องบทเพลงรองเง็งไปพร้อมๆ กันได้ เนื่องจากต้องใช้ทักษะมากเป็นพิเศษ การได้เรียนรู้วิธีการเล่น -ร้องเพลง รองเง็งมาจากครูเพลงรุ่นก่อน นอกจากสืบทอดสำเนียงดนตรีพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ ยังรักษาบทเพลงต้นแบบกว่า 50 เพลง เช่นเพลงลากูดูวา ลากูอายัมลิดิ ที่อยู่ในวิถีอูรักลาโวยจมานับร้อยปี เป็นเสียงดนตรีเพื่อความบันเทิงของคนในชุมชนไทยใหม่ราไวย์ถึงปัจจุบัน

วัยที่เพิ่มขึ้นของลูกวงทั้ง 9 คน ประกอบกับบางคนย้ายที่อยู่อาศัย ทำให้การรวมวงในนามลุงเง็ก อูรักลาโวยจไม่ง่ายเหมือนก่อน ตลอดจนยังไม่เคยถ่ายทอดให้กับเด็กๆ รุ่นใหม่ในหมู่บ้านจริงจัง จึงกังวลกันว่าอีกไม่นานเสียงเพลงรองแง็งอาจขาดหายจากชาวเลราไวย์

หริ ฟองสายธาร ครูเพลงพื้นบ้าน บ้านไทยใหม่ราไวย์ จ.ภูเก็ต เผยว่า"เด็กในยุคนี้ไม่สนใจ แม้ว่าเราอยากสอนอยากถ่ายทอด แต่เด็กๆ เห็นเข้าก็บอกยาก เพราะไม่พูดอูรักลาโวยจด้วยกันด้วย โดยเนื้อเพลงเป็นยาวีทั้งนั้น"

ในหมู่บ้านของชาวอูรักลาโวยจ จะได้ยินเสียงเพลงรองเง็งในงานมงคลต่างๆ อย่างเช่นงานแก้บน หรืองานแต่ง ซึ่งจะบรรเลงระหว่างแห่ขันหมากจากบ้านเจ้าบ่าวไปบ้านเจ้าสาว ซึ่งที่บ้านไทยใหม่ราไวย์นั้น ปัจจุบันเหลือคณะรองเง็งอยู่เพียงคณะเดียว สมาชิกอายุมาก และยังขาดแคลนเครื่องดนตรีที่จะใช้ถ่ายทอดต่อด้วย อย่างเช่นรำมะนาจากเดิมเคยหุ้มด้วยหนังแพะ ก็ต้องใช้ผ้าพลาสติกแทน

<"">
<"">

แม้ให้เสียงไม่แตกต่างมากนัก แต่หนังกลองที่ทำจากพลาสติกคงทนน้อยกว่าหนังแพะ ซึ่งบนเกาะภูเก็ต หนังแพะเป็นของหายากราคาสูงราว 20 ปีมานี้ทางคณะจึงจำเป็นต้องใช้รำมะนาที่ทำจากพลาสติก เครื่องดนตรีหลายชิ้นยังเสื่อมสภาพจากการเล่นต่อเนื่องมานาน เป็นที่มาของแผนงานฟื้นฟูดนตรีพื้นบ้านอูรักลาโวยจ ที่อยู่ระหว่างจัดหาทุนมาใช้จ่ายซ่อมแซมและจัดซื้อเครื่องดนตรีเพิ่ม

นายนิรันดร์ หยังปาน กรรมการชุมชนไทยใหม่ราไวย์ "มีความคิดและผู้ที่เข้าร่วมในการจัดสรรงบประมารมาอุดหนุนซ่อมแซมเครื่องดนตรี อุปกรณ์ต่างๆ และให้ผู้ฝึกสอนได้เรียนรู้"

นายหงิม ดำรงเกษตร ชาวบ้านไทยใหม่ราไวย์ จ.ภูเก็ต "ถ้าหายไปก็เหมือนกับอะไรมันขาดไป เพราะตั้งแต่โตมาก็ได้ยินมาตลอด รองแง็งเป็นของพื้นบ้านเรา ถ้าขาดไปก็จะไม่มีอะไรเหลือ"

"รองเง็ง"นิยมแสดงในพิธีสำคัญของชุมชนคู่กับการรำมวยกาหยง บูชาครูแก้บนที่ขอกับเจ้าที่หรือเจ้าทะเล ปัจจุบันเหลือนักดนตรีพื้นบ้านที่นี่เพียงกลุ่มเดียวที่ยังรักษาศิลปะการป้องกันตัวแบบกลุ่มชนมลายูเดิม ส่วนในพิธีลอยเรือเดือน 11 ชาวอูรักลาโวยจจากพื้นที่ต่างๆ ในภูเก็ต มักรวมตัวเล่นร้องเพลงรองเง็ง ในขบวนแห่เรือด้วยความภูมิใจ ซึ่งโครงการฟื้นฟูดนตรีชาติพันธุ์ ถือเป็นกิจกรรมแทนความหวังสืบต่อมรดกวัฒนธรรมชาวเลให้ภาพของห้องเรียนดนตรีกลางชุมชนอูรักลาโวยจแห่งนี้ ไม่เป็นแค่เพียงฝัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง