พลังผู้สูงอายุ”หนองไม้ไผ่” สร้าง“เสื่อกก”พลิกชุมชน

26 พ.ย. 55
12:08
224
Logo Thai PBS
พลังผู้สูงอายุ”หนองไม้ไผ่” สร้าง“เสื่อกก”พลิกชุมชน

ใครว่า”ผู้สูงอายุ”ต้องพึ่งพาลูกหลานอย่างเดียวนั้นไม่จริงเสมอไป หรือจะบอกว่า”เป็นดอกไม้ที่”บานไม่รู้โรย”ก็ได้สำหรับชมรมผู้สูงอายุต.หนองไม้ไผ่ อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา

 พวกเขาเริ่มก่อตั้งมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2540 โดยทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพอนามัย ต.หนองไม้ไผ่ ร่วมกับ อสม.จัดเป็นชมรมผู้สูงอายุขึ้น และมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุ โดยตำบลหนองไม้ไผ่แบ่งเขตการปกครองออกเป็น9 หมู่บ้าน มีประชากรรวม 3,890 คน เป็นประชากรผู้สูงอายุ 350 คน หรือ 9.1% สมัครเป็นสมาชิกชมรม

ผู้สูงอายุ 300 คน มีผู้สูงอายุติดเตียงช่วยเหลือตนเองไม่ได้อยู่ 25 คน ทาง อผส.จะมีทีมงานเข้าได้ดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้ง อสม.และอผส.ทั้งหมกได้ผ่านการอบรมการดูแลผู้สูงอายุจาก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)แล้ว

นางอารี เขียวทะเล ประธาน ประธานอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)และประธานอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน(อผส.) กล่าวว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีการรวมกลุ่มกันมานาน ทุกคนในกลุ่มจะรู้จักกันหมด ใครมีปัญหาอะไรก็มักจะมาปรึกษาหารือกัน โดยทุกเดือนจะมีการประชุม และในระหว่างสัปดาห์ก็มีการทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพอนามัยร่วมกัน มีการเต้นแอโรบิค ในชุมชน และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีรายได้จากอาชีพเสริม คือการนำวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่นอย่าง ต้นกก มาทำเป็นเสื่อกก และไม่ไผ่มาจักรสาน เป็น ตะกร้า สุ่มไก่ ลอบดักปลา

นอกจากนี้ยังมีทางมะพร้าวมาทำเป็นไม้กวาดด้วย ทำให้ผู้สูงอายุได้สานต่องานฝีมือ และได้ใช้เวลาสร้างรายได้เสริม หลังจากเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรแล้ว อาชีพเสริมของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะทำกันมาช้านานจากรุ่นสู่รุ่น เพราะวัตถุดิบต่างๆมาจากธรรมชาติในพื้นที่ ประกอบกับเป็นวัฒนธรรมที่ชุมชนถือปฏิบัติมาตั้งแต่รุ่นปูย่าตายาย หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จ เมื่อมีเวลาว่างแล้ว ผู้หญิงก็จะทำเสื่อกกไว้ใช้เองที่บ้าน

ส่วนผู้ชายก็จะสานตะกร้า ทำสุ่มไก่ไว้ใช้ แต่ปัจจุบันความเป็นอยู่เปลี่ยนไป คนรุ่นหลังเริ่มจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต มีหลายคนออกจากชุมชนไปใช้แรงงานในเมืองและต่างจังหวัด

ผู้สูงอายุในชุมชนจะแบ่งกลุ่มตามอาชีพเสริมของแต่ละคน เช่น ผู้สูงอายุผู้หญิงก็จะรวมกลุ่มกันทอเสื่อกก กลุ่มผู้สูงอายุชายก็จับกลุ่มกันจักรสาน ทำผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ในชุมชน

เมื่อทำเสร็จก็จะนำผลิตภัณฑ์ของตัวเองมาวางจำหน่ายรวมกันที่อนามัยชุมชน ซึ่งเป็นที่ๆผู้สูงอายุใช้ทำกิจกรรม โดยสินค้าของแต่ละคนก็จะติดชื่อไว้ เมื่อสินค้าของใครขายได้ เจ้าของสินค้าก็นำเงินกลับไป แต่หักเงินเข้าส่วนกลาง 5%เพื่อใช้เป็นค่าบำรุงสถานที่

หลังจากที่ชมรมผู้สูงอายุได้มีการจัดตั้งขึ้น ก็ดำเนินกิจกรรมส่งเสริอาชีพเรื่อยมา จนมาปี 2553 แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.)ได้ประสานกับทางชมรมผู้สูงอายุเพื่อพัฒนาพื้นที่นำร่อง ต.หนองไม้ไผ่ ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ

แบ่งออกเป็น 4 มิติ ได้แก่ การดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว การส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุ การเตรียมความพร้อมก่อนวัยผู้สูงอายุและการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับสังคมผู้สูงอายุ

“หลังจาก มส.ผส. เข้ามาร่วมกันส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ให้ความรู้กับผู้ที่ใกล้เข้าวัยผู้สูงอายุให้มีการเตรียมตัวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ และการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุมากขึ้น เช่นทำราวบันได ทำห้องน้ำ เตรียมเก้าอี้ภายในวัด”

นอกจากนี้ยังมีการประชุมวงเดือนลำดวนทุกเดือน เพื่อติดตามการทำงาน โดยในการประชุมก็จะมีการจัดกิจกรรมทอดผ้าป่า หาเงินมาปรับภูมิทัศน์โดยรอบบริเวณชุมชนและวัด ให้มีพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น

“เมื่อก่อนเราจะเรียกว่าการประชุมกลุ่มดอกแก้ว แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการประชุมวงเดือนลำดวนแล้ว”นางอารี กล่าว

ขณะที่นายสมพงษ์ ดวงโพธิ์ อายุ 67 ปี ประธานชุมรมผู้สูงอายุ ต.หนองไม้ไผ่ กล่าวว่าการรวมกลุ่มเป็นชมรมผู้สูงอายุ ถือเป็นการสร้างคุณค่าให้กับผู้สูงอายุ ได้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพราะเมื่อมีการรวมกลุ่ม ก็จะมีกิจกรรมทำร่วมกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นงานบุญประเพณีประจำชุมชน การรวมกลุ่มจัดทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงการแจ้งข่าวความเคลื่อนไหวในสังคม

“ในแต่ละเดือนตนจะนั่งเป็นประธาน ร่วมพูดคุยกับเพื่อนฝูงที่เป็นผู้สูงอายุ มีข่าวอะไรก็แจ้งให้ทราบทั่วกัน มีความรู้ในการดูแลสุขภาพอนามัยก็จะมาบอกกล่าวกันให้ผู้สูงอายุมีความรู้ในการดุแลตัวเองในเบื้องต้น ซึ่งเราทำอย่างนี้ทุกเดือน”

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมีอาชีพเสริมจากการทอเสื่อกก ที่มีการออกแบบให้มีมูลค่าเพิ่ม เช่นทำเสื่อประณีตแบบพับจะมีต้นทุนการผลิตสูง ทำให้มีราคาขายสูงถึง 500บาท และผลิตภัณฑ์กระเป๋าที่ทำจากกก ซึ่งก็สร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุได้มีเงินใช้ ไม่รบกวนลูกหลาน

แม้ว่าจะขายกันแค่ในชุมชน แต่ก็สร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุได้ไม่น้อย เพราะไม่ได้ลงทุนเรื่องวัตถุดิบเลย เพียงแต่เราแค่ลงแรงเท่านั้น ส่วนวัตถุดิบ เจ้าหน้าที่ อสม.ก็จะมาช่วยหาให้ผู้สูงอายุ เราก็จะนำวัตถุดิบเหล่านี้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย และเจ้าหน้าที่จะเข้ามาอบรมออกแบบผลิตภัณฑ์

เขาบอกการรวมกลุ่มเป็นชมรมผู้สูงอายุช่วยเอื้อให้ชุมชนเกิดภูมิคุ้มกันระหว่างกัน สามารถพึ่งพาอาศัยระหว่างกันของผู้สูงอายุในระยะยาวได้หลายมิติ ไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุเท่านั้น ยังเป็นการสร้างคุณค่าระหว่างสมาชิกที่ยึดโยงกันเป็นค่านิยมความเชื่อในการดำเนินชีวิตในแบบวิถีพอเพียงตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงด้วย

เมื่อชุมชนมีความเข้มแข็ง คนในชุมชนก็ใส่ใจกันมากขึ้น วัยหนุ่มสาวหันมาดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น และวัยที่ใกล้เป็นผู้สูงอายุ ก็รู้ตัวเองมากขึ้น เริ่มมีการเตรียมความพร้อมก่อนเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น

“ผมถือว่า การให้คุณค่าของตัวเองเป็นสิ่งที่ดีทำให้เรามองเห็นคุณค่าของคนรอบข้างเช่นกัน ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าชุมชนทุกชุมชนเป็นเช่นนี้ได้ ผู้สูงอายุก็จะมีความสุขอีกมากและเมื่อมีความสุขแล้ว เขาก็จะกลับมาพัฒนาชุมชนให้ยังคงรักษาวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีให้ยังอยู่ต่อไปกับคนรุ่นหลังด้วย”นายสมพงษ์ กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง