นักวิชาการหวั่นไทยเสียเปรียบ "เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป"

เศรษฐกิจ
28 พ.ย. 55
07:15
55
Logo Thai PBS
นักวิชาการหวั่นไทยเสียเปรียบ "เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป"

รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเตรียมหารือกับรองประธานคณะกรรมาธิการการค้าสหภาพยุโรป ในวันศุกร์นี้ ซึ่งนักวิชาการ ตั้งข้อสังเกตว่า อาจทำให้ไทยเสียเปรียบ เพราะอียูต้องการเร่งรัดและแลกเปลี่ยนกับการต่ออายุมาตรการทางศุลกากรแบบอัตโนมัติ ในปี 2557 พร้อมประเมินความเสียหายต่อประเทศในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรรม และสาธารณสุข

วงเสวนาวิชาการ "วิเคราะห์ เอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป ท่ามกลางภาวะวิกฤตยูโรโซน" ผศ.สมชาย รัตนชื่อสกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แถลงการณ์เดินหน้าการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจเอเชียและแปซิฟิก หรือ ทีพีพี ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา อาจเป็นสัญญานให้อียู เร่งรัดการเจรจาเอฟทีเอ ระหว่างไทยกับยุโรปง่ายขึ้น

โดยเชื่อว่าอียู จะกดดันเริ่มเจรจา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาผ่านอนุสัญญาการค้าเมล็ดพันธุ์พืช ทำให้เกษตรกรไทยอาจได้รับผลกระทบจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์เคมีเกษตร และเกษตรพันธะสัญญา

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ตัวแทนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขกล่าวว่า อียูอาจขอให้ไทยแก้ระเบียบควบคุมโฆษณาแอลกอฮอลล์ หรือร่วมกับนักลงทุนไทยตั้งโรงงานผลิต รวมไปถึง ส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ 3-5 ของการบริโภคทั้งหมด ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตไทยอาจลดราคา หรือ ทำการตลาดมากขึ้น เพื่อแข่งขันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ชนิดใหม่ๆ จากอียู ทำให้นักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กลุ่มสาธารณสุข ตั้งข้อสังเกตว่า ท่าทีของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อาจทำให้ไทยเสียเปรียบจากการเจรจา พร้อมติดตามการหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และกรรมาธิการการค้าสหภาพยุโรป ในวันศุกร์นี้ จะผลักดันความตกลงนี้อย่างไร

นักวิชาการยังเสนอว่า คณะเจรจา ควรกำหนดท่าทีต่อความกังวลปัญหาสุขภาพและสาธารณสุขให้ชัดเจน โดยเฉพาะ สิทธิการเข้าถึงยาเหนือการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ทริป พลัส เพราะ กระทบต่อราคายานำเข้า และสร้างภาระงบประมาณของประเทศ พร้อมวางมาตรการเยียวยาก่อนเจรจา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน การติดตามและวิเคราะห์ผลที่อาจเกิดขึ้นจากการเปิดเสรีการค้าดังกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง