เปิด "จุดอ่อน-จุดแข็ง" ของกฏหมายและรัฐธรรมนูญ

27 ธ.ค. 55
13:53
3,268
Logo Thai PBS
เปิด "จุดอ่อน-จุดแข็ง" ของกฏหมายและรัฐธรรมนูญ

การเสวนา "สิทธิและเสรีภาพ กับช่องว่างระหว่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญกับความเป็นจริง" มีทั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน, นักวิชาการ, ฝ่ายการเมืองและประชาชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ เรื่อง สิทธิและเสรีภาพในสังคมไทย พร้อมกับนำเสนอจุดอ่อนและจุดแข็ง ของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ที่อาจนำมาซึ่ง "ปฏิรูป"

เหตุผลสำคัญที่ผู้เข้าร่วมเสวนานั้น เห็นตรงกัน คือ ไม่เพียงการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อเปิดทางให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม แทนการครอบครองโดยรัฐ ซึ่งสามารถจำกัดสิทธิและเสรีภาพได้ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย

โดยระหว่างเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็น แม้ ศ.วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะยอมรับว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ครอบคลุมที่จะดูแลสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะกรณีรัฐประกันสิทธิ์ให้ตั้งแต่เกิด การดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานและการเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐเข้าร้องเรียนต่อศาลปกครองได้ แต่ยังพบจุดอ่อนที่ต้องเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สอดรับกับสิทธิสัญญาสากล อาทิ กรณีการตีตรวจผู้ต้องโทษและอายุขั้นต่ำของผู้รับโทษ หรือกรณีกฎหมายด้านความมั่นคง อาทิ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.ความมั่นคง

 

<"">
 
<"">

ด้านผศ.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ไม่เพียงกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ที่เป็นเกราะดูแลเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หากแต่ยังสร้างกลไกป้องกันการละเมิดไว้ด้วย แต่สภาพสังคมปัจจุบันยังเกิดกรณีปัญหาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่า กรณีที่รัฐยังคงวางบทบาทเป็นเจ้าของกระบวนการยุติธรรม ย่อมเป็นเหตุให้ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม จึงควรเกิดการ"ปฏิรูป"ทั้งกระบวนการ

ขณะที่ อ.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยามหิดล เห็นว่า ยังคงมีช่องว่างและกรณีปัญหาในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในบางกลุ่ม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ยังคงพึงปฏิบัติในลักษณะที่เป็นผู้ละเมิด รวมถึงการแก้รัฐธรรมนูญ แม้จะเป็นเรื่องปกติที่สามารถดำเนินการได้ แต่ไม่ควรเดินหน้าผลักดันภายใต้เจตจำนงค์ เพื่อประโยชน์ของบุคคลเพียงบางคน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับกรณีความชอบธรรม

 

<"">
 
<"">

ส่วนศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 4 ที่ว่าด้วยหน้าที่ของชนชาวไทย เนื่องจากมีเนื้อหาที่แสดงถึงการจำกัดสิทธิ์ของประชาชน โดยเฉพาะบทบัญญัติที่ให้รัฐสามารถจำกัดสิทธิ์ของประชาชนได้ ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย

วงเสวนายังกล่าวยอมรับว่า สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ แต่สถานการณ์ที่แท้จริงยังคงไม่เป็นไปดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นช่องว่างระหว่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญกับความเป็นจริงนั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นช่องว่างระหว่างความคาดหวังกับสภาพความเป็นจริง ที่ไม่ต่างจาก "การถูกลิดรอนเชิงสัมพันธ์"


ข่าวที่เกี่ยวข้อง