จากการปนเปื้อนสารตะกั่วในเลือดของเด็ก นร. ใน จ.ระยอง สู่การคุ้มครองสุขภาพเด็กทั่วประเทศ

3 ม.ค. 56
14:40
216
Logo Thai PBS
จากการปนเปื้อนสารตะกั่วในเลือดของเด็ก นร. ใน จ.ระยอง สู่การคุ้มครองสุขภาพเด็กทั่วประเทศ

การตรวจพบการปนเปื้อนสารตะกั่วในเลือดของนักเรียนจังหวัดระยอง และในเด็กอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก แม้ที่มาของการปนเปื้อนสารตะกั่ว จะแตกต่างกันไปตามสภาพของปัญหาในแต่ละพื้นที่ แต่ทีมข่าวไทยพีบีเอสได้ลงพื้นที่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบาย ซึ่งการตรวจสอบจนทราบที่มาของการปนเปื้อน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเรียกประชุมและออกมาตรการแนวทางในการป้องกันปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในระดับพื้นที่และขยายไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อคุ้มครองสุขภาพของเด็กและประชาชนทั่วประเทศ

<"">
<"">

 

นักเรียนชั้นอนุบาล รร.วัดปทุมาวาส อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เพลิดเพลินและสนุกสนานกับการได้กลับมาเล่นเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นของพวกเขาอีกครั้ง หลังปิดปรับปรุงไปกว่า 1 เดือน เมื่อผลการตรวจสอบระบุว่า สีทาเครื่องเล่น มีสารตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณสูง ซึ่งกลายเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้นักเรียนที่นี่มีปริมาณการปนเปื้อนสารตะกั่วในเลือดสูงกว่าค่ามาตรฐาน 10 ไมโครกรัม/เดซิลิตร ถึง 37 คน

ชาญวิทย์ สุทธิ ผู้อำนวยการ ร.ร.ยืนยันว่า การปรับปรุงสนามเด็กเล่นครั้งนี้ทำอย่างรัดกุม ใช้ช่างที่มีฝีมือ ไม่ได้ทากันเอง โดยใช้สีที่ได้มาตรฐาน ทาแทนสีเดิมที่ขูดทิ้งไป และยอมรับว่า เป็นบทเรียนสำคัญ ที่จากนี้ต้องเอาใจใส่ด้านสุขภาพของนักเรียนให้มากขึ้น

<"">
<"">

นพ.ชัยวัฒน์ จัตตุพร สาธารณสุข จ.ระยอง ระบุว่า ได้เตรียมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจเลือดนักเรียนกลุ่มเสี่ยงซ้ำอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เกิดจากพฤติกรรมของเด็ก เช่น การบริโภค อาหาร ขนม และน้ำดื่ม พร้อมเรียกร้องให้พื้นที่อื่นๆ ตระหนักถึงผลกระทบที่ส่งผลต่อสุขภาพเด็ก

การนำเสนอปัญหา และตรวจสอบสาเหตที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนสารตะกั่วในเลือดของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง กระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้เรื่องนี้ได้ถูกพิจารณาให้รับรางวัลรองชนะเลิศข่าว สารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็ก จากองค์กรยูนิเซฟประจำปี 2555

การปนเปื้อนของสารตะกั่วในภาชนะหุงต้ม หรือ หม้อแขก ที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก จนพบเด็กๆ ในหมู่บ้านยะโม่คี มีปริมาณสารตะกั่วในเลือดสูงกว่าค่ามาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลอุ้มผาง ได้แก้ปัญหาด้วยการนำภาชนะสแตนเลสมาให้ชาวบ้านใช้แทนของเดิม แต่หลายครอบครัวยังไม่ปฏิบัติตาม

<"">
<"">

 

อย่างครอบครัวของ ด.ช.จักรี สี่หมื่น วัย 5 ขวบ ที่พบสารตะกั่วปนเปื้อนในเลือดสูงถึง 54 ไมโครกรัม เดซิลิตร แต่ผู้ปกครองยังใช้ภาชนะเดิม และไม่ยอมเปลี่ยนมาใช้ภาชนะสแตนเลสที่โรงพยาบาลนำไปให้ จึงเป็นห่วงว่าอาจส่งผลต่อการรักษาได้

สำหรับ อ.อุ้มผาง มีทั้งหมด 6 ตำบล 38 หมู่บ้าน โดยกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่คือปกากะญอ ที่จะอาศัยอยู่ตามแนวชายแดน ซึ่งส่วนใหญยังไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ แม้จะรณรงค์ให้ชาวบ้านเลิกใช้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่การขอรับบริจาคภาชนะสแตนเลสจากหลายหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปให้ชาวบ้านใช้แทนของเดิม ก็ยังได้รับบริจาคน้อย ทำให้ไม่สามารถแจกภาชนะสแตนเลสให้กับชาวบ้านได้อย่างทั่วถึง

<"">
<"">

 

ตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจากทางปาก หายใจ และดูดซึมทางผิวหนัง ซึ่งจะสะสมภายในร่างกายไปเรื่อยๆ แม้ร่างกายจะขับออกมาได้ทางปัสสาวะ แต่อาชีพที่ต้องคลุกคลีกับสารตะกั่วเป็นประจำ เช่น หลอมโลหะ แบตเตอรี่ ช่างยนต์ ช่างอิเล็คทรอนิกส์ ช่างสี อาจมีตะกั่วสะสมได้ทั้งในกระดูก ไขมัน สมอง ตับ ไต อาการพิษเรื้อรังที่พบบ่อยคือ หากรับตะกั่วสะสมมากกว่า 70 ไมโครกรัม/เดซิลิตร เช่น ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ทรงตัวไม่ได้ ประสาทหลอน ชัก เป็นอัมพาต และอาจเสียชีวิตได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง