“เผดิมชัย” เตรียมถก “กิตติรัตน์” หามาตรการบรรเทาผลกระทบขึ้นค่าจ้าง 300 บาท

เศรษฐกิจ
4 ม.ค. 56
02:43
45
Logo Thai PBS
“เผดิมชัย” เตรียมถก “กิตติรัตน์” หามาตรการบรรเทาผลกระทบขึ้นค่าจ้าง 300 บาท

“เผดิมชัย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เตรียมหารือ “กิตติรัตน์” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันนี้ (4 ม.ค.) เพื่อหาข้อสรุปถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง 300 บาท โดยจะมีการเสนอมาตรการช่วยเหลือทั้งนายจ้างเอสเอ็มอี และลูกจ้างเพิ่มเติมอีกหลายรายการ

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้(4 ม.ค.) จะหารือร่วมกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2556 เกี่ยวกับการออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี พร้อมเตรียมเสนอรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกหลายมาตรการ เช่น การลดค่าธรรมเนียมห้องพักที่เรียกเก็บสำหรับโรงแรมหรือที่พักแรมที่เป็นเอสเอ็มอี การปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ ซึ่งคาดว่า มาตรการเหล่านี้ จะถูกเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ภายในเดือนมกราคมนี้

ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า เบื้องต้นมีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทใน 7 จังหวัด ซึ่งเริ่มปรับขึ้นค่าจ้างเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 จำนวน5 แห่ง เลิกจ้างแรงงานกว่า 1,700 คน แต่สำหรับผลกระทบที่เกิดจากการปรับขึ้นค่าจ้างรอบใหม่ในวันที่ 1 มกราคม คาดว่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนช่วงเดือนมีนาคม

ส่วนสถานการณ์ที่บ่งชี้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ขณะนี้เริ่มมีการปิดกิจการของโรงงานหลายแห่ง รวมถึงการเลิกจ้างแรงงานแล้วจำนวนหนึ่ง เช่นที่ บริษัท มาสเตอร์พีซ การ์เม้นท์ แอนด์ เท็กซ์ไทล์ จำกัด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ได้ปิดกิจการโดยไม่มีการแจ้งให้แรงงานทราบล่วงหน้า เพราะทางโรงงานไม่ได้ชำระค่ากระแสไฟฟ้า กว่า 100,000 บาท จึงไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้

ส่วนที่จังหวัดชัยภูมิ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าหลายแห่งในอำเภอเมือง ปิดกิจการเพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนงานกว่าครึ่งต้องย้ายไปทำงานบริษัทสาขาในต่างอำเภอ ขณะที่พนักงานบางส่วนตัดสินใจลาออก เพื่อหางานใหม่

ขณะที่ผู้ว่างงานในจังหวัดศรีสะเกษ เริ่มทยอยไปลงทะเบียนประกันตนเป็นผู้ว่างงาน ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด เพื่อขอรับการช่วยเหลือ ตามสิทธิผู้ประกันตนตามกฏหมาย หลังโรงงานต้นสังกัดประกาศปิดโรงงานตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม เพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง