"ญี่ปุ่น"ปรับแนวทางเฝ้าระวัง"สินค้าธัญพืช"นำเข้า

สิ่งแวดล้อม
11 ม.ค. 56
11:56
168
Logo Thai PBS
"ญี่ปุ่น"ปรับแนวทางเฝ้าระวัง"สินค้าธัญพืช"นำเข้า

 นางปราณี  ศิริพันธ์  อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนกันยายน  2555 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศปรับปรุงการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าธัญพืช ประกอบด้วย ข้าว ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ ซึ่งกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries: MAFF) ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ค้าขายสินค้าเกษตรของรัฐเป็นผู้นำเข้า โดยการปรับปรุงการตรวจสอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าข้าว ประกอบด้วย

 
1. การเฝ้าระวังสารพิษจากเชื้อรา (fungal toxin) และการปนเปื้อนของโลหะหนัก (heavy metal contamination) เพื่อพิจารณาสถานะที่แท้จริงของการปนเปื้อนในประเทศผู้ส่งออก เนื่องจากปัจจุบัน ญี่ปุ่นยังไม่มีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ โดยการเฝ้าระวัง โดยให้กำหนดให้เก็บตัวอย่างก่อนที่ MAFF จะจำหน่ายข้าวที่นำเข้าภายใต้ระบบ Minimum Access (MA) แก่ภาคอุตสาหกรรมในประเทศ (โดยปกติ MAFF จะซื้อข้าวที่นำเข้าภายใต้ระบบ MA จากประเทศ   ผู้ส่งออกและเก็บไว้ในคลังสินค้าประมาณ 12 เดือนก่อนที่จะจำหน่ายแก่ภาคอุตสาหกรรมในประเทศ) และทำรายการตรวจสอบ  
 
นางปราณี กล่าวว่า ประเทศผู้ส่งออกที่ถูกเฝ้าระวัง ได้แก่ สหรัฐฯ ไทย ออสเตรเลีย จีน และเวียดนาม การเฝ้าระวังดังกล่าวไม่มีผลที่จะนำไปสู่การจำกัดการนำเข้าข้าวจากทั้ง 5 ประเทศข้างต้น อย่างไรก็ดี ในการนำเข้าข้าวแบบ MA ซึ่งโดยปกติสินค้าจะถูกเก็บไว้ในคลังสินค้าประมาณ 12 เดือนก่อนที่จะนำไปจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการในประเทศ ดังนั้น ข้าวที่นำเข้าจึงมีความเป็นไปได้ที่จะถูกตรวจพบ fungal toxins และในกรณีที่มีการตรวจพบสารพิษดังกล่าว MAFF จะหารือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขก่อนจำหน่ายแก่อุตสาหกรรม ในประเทศ หากหน่วยงานสาธารณสุขเห็นว่าไม่ควรจำหน่ายสินค้าล็อตดังกล่าวแก่อุตสาหกรรมอาหารในประเทศ ข้าวในล็อตนั้นก็จะถูกนำไปทำลายหรือนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาหาร โดย MAFF จะเป็นผู้รับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าสินค้าล็อตนั้นๆ
 
ทั้งนี้ ในอดีต ญี่ปุ่นได้ตรวจพบสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงที่เกินระดับที่อนุญาตให้ใช้ได้ (Maximum Residue Limit: MRL) ในข้าวจากเวียดนาม จีน พม่า และอินเดีย ดังนั้น MAFF จึงเพิ่มการเฝ้าระวังการนำเข้าข้าวจากประเทศเหล่านี้ โดยการปรับจำนวนตัวอย่างที่จะนำไปตรวจสอบจากเดิมกำหนดไว้ที่การนำเข้าทุก 1,000 ตัน เป็นทุก 400 ตัน และให้มีการตรวจสอบก่อนการนำเข้า
 
- การปรับจำนวนตัวอย่างที่จะนำไปตรวจสอบดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงการนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ ไทย และออสเตรเลีย ซึ่งสินค้ามีความน่าเชื่อถือในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยสูงกว่า
อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2554 ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวรวม 580,946 ตัน โดยนำเข้าจากไทยซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับ 2 จำนวน 174,540 ตัน รองจากสหรัฐฯ ที่ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวจำนวน 335,640 ตัน และในปี 2555 (ม.ค.-ก.ย.) ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวจากไทยแล้วจำนวน 124,620 ตัน คิดเป็นร้อยละ 29.02 ของปริมาณการนำเข้าข้าวโดยรวม ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังในเรื่องการปนเปื้อนของข้าวที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่น เพื่อรักษาตลาดและเพิ่มโอกาสการขยายส่วนแบ่งตลาดข้าวนำเข้าในประเทศญี่ปุ่นอย่างยั่งยืน
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง