สถูปปริศนาแห่งอมรปุระ

Logo Thai PBS
สถูปปริศนาแห่งอมรปุระ

จนถึงวันนี้ยังไม่มีบทสรุปว่าสถูปปริศนาที่เมืองมัณฑะเลย์ของประเทศพม่า เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร แต่คนไทยไม่น้อยก็เดินทางไปที่นั่น จนกลายเป็นเป้าหมายหนึ่งของการท่องเที่ยว และอาจเป็นอีกจุดเริ่มต้นของการสืบค้นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่จะเป็นประโยชน์ต่อไป

สถูปปริศนา ท่ามกลางสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมที่สุสานลินซิน-กอง ชานเมืองอมรปุระ ไม่ไกลจากทะเลสาบ "ต่าวตะหมั่น" และสะพานอูเบง จุดท่องเที่ยวลือชื่ออีกแห่งหนึ่งของมัณฑะเลย์ เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จากเอกสารฝ่ายพม่า กล่าวว่า อดีตพระมหากษัตริย์จากกรุงศรีอยุธยา ซึ่งถูกกวาดต้อนมาพร้อมกับผู้คน ได้สวรรคตในเพศบรรพชิต และมีพิธีปลงศพที่สุสาน ลินซิน-กอง ชานเมืองอมรปุระ ไม่มีหลักฐานมากไปกว่านี้นอกจากเรื่องเล่าปากต่อปากที่อยู่ในความจดจำของ "วินวินมอ" สัปเหร่อ ผู้เฝ้าสุสานแห่งนี้มากว่า 20 ปี

วิน วิน มอ เล่าว่า แทบไม่มีใครสนใจมาที่นี่ มีแต่เพียงคนไทย ที่เชื่อว่าสถูปแห่งนี้บรรจุพระบรมอัฐิของเจ้าฟ้าอุทุมพร และนั่นอาจทำให้สถูปแห่งนี้ไม่ถูกบุกรุกทำลาย และทำให้เธอพอมีรายได้จากการให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยว และได้ข่าวว่ารัฐบาลมีแนวคิดจะปรับพื้นที่นี้เป็นสวนสาธารณะ และจะเก็บรักษาส่วนที่เป็นโบราณสถานแห่งนี้ไว้

ผ่านมาหลายชั่วอายุคน เชลยส่วนหนึ่งจากกรุงศรีอยุธยากลายเป็นคนท้องถิ่นที่นี่ เรื่องเล่าจากครั้งนั้นค่อยเลือนลาง แต่สำหรับ นพ.ทิน มอง จี วัย 75 ปี ยังสืบค้นถึงที่มาของตัวเอง ตามคำสั่งของปู่ที่ย้ำเสมอว่า "อย่าลืมว่าเป็นคนไทย" เพื่อไม่ให้หลงลืมรากเหง้าของบรรพชน ที่สืบสายเลือดมาจากกลุ่มชาวโขนละครจากราชสำนักอยุธยา

นพ.ทิน มอง จี นักวิชาการด้านพม่าและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณหมอทินมองจี เล่าว่า ค้นพบสถูปนี้เมื่อปี 1987 หรือ เมื่อ 26 ปีที่แล้ว ตามคำบอกเล่าว่าเป็นสถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร ไม่มีหลักฐานใดชี้ชัดว่าใช่หรือไม่ แต่จากการค้นคว้าถึงร่องรอยคนไทยที่ถูกกวาดต้อนมาพม่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็พบข้อมูลน่าสนใจ และมีหลักฐานชี้ชัดถึงการอพยพของคนไทยยุคนั้นอยู่หลายแห่ง

ไม่มีความทรงจำของคนในชุมชนใหม่เกี่ยวกับศาลพระราม หรือที่คนพม่าเรียก "ยามะ" หมายถึงรามายณะ หรือรามเกียรติ์ สันนิษฐานว่าที่แห่งนี้คือย่านอาศัยของชุมชนโขนละครจากอยุธยา สอดคล้องกับการค้นคว้าของคุณหมอทินมองจี ศาลแห่งนี้มีการวางเศียรพระฤาษีไว้ด้านขวามือสุด ต่อมาคือพระราม พระลักษณ์ นางสีดา และหนุมาน ทั้งหมดเป็นของสร้างใหม่โดยเลียนแบบของดั้งเดิมที่เป็นหัวโขนในวัฒนธรรมการบูชาครูโขนละครแบบสยาม

ข้ามไปอีกฝั่งของทะเลสาบ "ต่าวตะหมั่น" ที่วัด "เจาตอจี" ฝั่งตรงข้ามสุสานลินซินกอง ที่ตั้งสถูปปริศนา พบร่องรอยโยเดียที่เหลืออยู่ ภาพจิตรกรรมบนผนังบางส่วน เป็นภาพเด็กไว้ผมจุก แกละ ล้อมวงเล่นกันสนุกสนาน ในบริเวณย่านอาศัยแบบพม่า สันนิษฐานว่าเป็นวิถีชีวิตแบบโยเดียที่เหลืออยู่ ยังไม่มีบทสรุปเกี่ยวกับสถูปปริศนาแห่งอมรปุระ แต่ข้อมูลในวันนี้ก็ช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงของผู้คนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสืบค้นต่อไป
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง