ผู้ว่าฯอยุธยาสั่งเสริมกระสอบทราย-เสาเข็ม ป้องกันตลิ่งพังเพิ่มเติม

ภูมิภาค
6 มิ.ย. 54
02:43
9
Logo Thai PBS
ผู้ว่าฯอยุธยาสั่งเสริมกระสอบทราย-เสาเข็ม ป้องกันตลิ่งพังเพิ่มเติม

ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงพื้นที่บริเวณริมตลิ่ง ในตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา เพื่อควบคุมการทำเขื่อนป้องกันน้ำกัดเซาะตลิ่งด้วยตัวเอง หลังเรือบรรทุกน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้บ้านบริเวณริมตลิ่งถูกน้ำกัดเซาะเสียหายไปแล้ว 2 หลัง

ครอบครัวของนางอุสา มาทอง ช่วยกันเก็บข้าวของที่จำเป็นทั้งเสื้อผ้าของกินของใช้ภายในบ้านเพื่อย้ายไปอาศัยพักค้างคืนที่บ้านของเพื่อนบ้านบริเวณใกล้เคียงที่ไม่ได้รับผลกระทบจากตลิ่งที่พังเสียหายจากเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลล่มเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา

นางอุสา เล่าถึงเหตุการณ์ว่า เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมาน้ำได้เข้ากัดเซาะตลิ่งบริเวณบ้านของเธอจนถึงบันไดบ้าน ซึ่งนับจากจุดที่ตลิ่งพังครั้งแรก น้ำได้กัดเซาะเข้ามาเป็นทางลึกกว่า 5 เมตร แม้เจ้าหน้าที่จะมีการนำเสาเข็มมาตอกตรึงไว้ และ พยายายามเสริมกระสอบทรายเพื่อป้องกันแล้วก็ตาม แต่เมื่อคืนที่ผ่านมาเธอและครอบครัวต้องอพยพไปอาศัยใต้ถุนบ้านของเพื่อนบ้านอยู่ โดยยังไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะทำอย่างไรต่อไป

สมาชิกทั้ง 16 คนของครอบครัวนี้ ต่างรู้สึกหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ตัวบ้านไม่ได้ถูกน้ำพัดหายไปเหมือนบ้าน 2 หลังแรกของเพื่อนบ้านที่ได้รับความเสียหาย แต่สมบัติชิ้นสุดท้ายของครอบครัว คือผืนดินบริเวณใกล้เคียงกับบ้านก็ได้หายไปกับสายน้ำที่กัดเซาะเข้ามาแล้ว

ขณะที่หน่วยงานเอกชนที่เคยให้คำสัญญาว่าจะช่วยเหลือยังไม่ส่งสัญญาณการช่วยเหลือใด ๆ มาให้กับชาวบ้าน แต่ นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ลงพื้นที่เพื่อควบคุมการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำด้วยตัวเอง โดยยอมรับว่า เป็นกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะตลอดระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง และ พลเรือนร่วมกันสร้างเขื่อนกั้นน้ำแต่กระแสน้ำที่แรงมากทำให้เขื่อนที่สร้างขึ้นถูกน้ำกัดเซาะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องเร่งเสริมกระสอบทราย และ ตอกเสาเข็มเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน

ส่วนการกู้ซากเรือในแม่น้ำ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะยังคงทำตามกำหนดการเดิมในวันนี้ (6 มิ.ย.) โดยเบื้องต้นประเมินว่า ท้องเรือที่จมอยู่ในน้ำแทบไม่มีน้ำตาลหลงเหลืออยู่แล้วโดยอาจรั่วไหลไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่บางส่วนถูกสูบขึ้นใส่เรือลำเลียงไปแล้วโดยการดำเนินการในวันนี้จะต้องใช้นักประดาน้ำที่มีความชำนาญลงไปตรวจสอบ และ อุดรูรั่วของเรือ ก่อนจะเร่งยกเรือขึ้นเพื่อให้สามารถสูบน้ำออกให้เร็วที่สุด ซึ่งคาดว่า จะสามารถกู้เรือที่จมอยู่ได้สำเร็จ

ขณะที่กรมประมง คาดว่า มวลน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการจมของเรือบรรทุกน้ำตาลครั้งนี้ได้ขยายมาถึงบริเวณจังหวัดนนทบุรีแล้ว เนื่องจากขณะนี้มีกระแสน้ำแรงกว่าปกติ ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกรมประมงได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายในเบื้องต้นแล้ว พร้อมทั้งทำการตรวจสอบพื้นที่ใกล้เคียงที่มีมวลน้ำเสียไหลไปว่า จะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด

 

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง