ทีดีอาร์ไอเสนอใช้โทษปรับตามรายได้แทนจำคุก ปรามทำความผิดซ้ำคดีอาญา ยุติธรรม ลดช่องคนรวย-คนจน

อาชญากรรม
6 มิ.ย. 54
18:22
38
Logo Thai PBS
ทีดีอาร์ไอเสนอใช้โทษปรับตามรายได้แทนจำคุก ปรามทำความผิดซ้ำคดีอาญา ยุติธรรม ลดช่องคนรวย-คนจน

 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์และนายสุนทร ตันมันทอง จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้ นำเสนอบทความวิจัยเรื่อง การใช้โทษปรับในการลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน โดยมีสาระสำคัญคือ  การปรับเป็นเครื่องมือการลงโทษที่เป็นตัวเงิน ซึ่งมีผลในการถ่ายโอนเงินจากผู้กระทำความผิดมาสู่รัฐ   เมื่อเปรียบเทียบกับโทษจำคุกแล้ว โทษปรับมีข้อดีกว่าหลายประการคือ ประการแรก การใช้โทษปรับมีต้นทุนในการบริหารจัดการไม่สูงเท่าโทษจำคุก ซึ่งใช้งบประมาณสูงมาก    ประการที่สอง สังคมไม่ต้องสูญเสียทรัพยากรมนุษย์จากการได้รับโทษจำคุก    ประการที่สาม  โทษปรับไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อผู้กระทำความผิดรุนแรงเหมือนโทษจำคุก ซึ่งมักสร้าง “ตราบาป” ที่ติดตัวไปตลอดชีวิต

เหตุผลดังกล่าว สมควรนำโทษปรับมาใช้แทนโทษจำคุกให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้  โดยเฉพาะในกรณีที่ความผิดที่กระทำขึ้นนั้น ไม่ใช่ความผิดอุกฉกรรจ์ เช่น การฆ่าคนตายหรือทำร้ายร่างกาย ซึ่งทำให้ต้องกันตัวผู้กระทำความผิดออกจากสังคมเพื่อไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก  แต่น่าเสียดายที่ ในปัจจุบัน โทษปรับไม่ได้เป็นทางเลือกอย่างแท้จริงแทนโทษจำคุกในประเทศไทย  แต่กลับมีลักษณะเสริมโทษจำคุก เช่นมักใช้โทษปรับเมื่อมีการรอลงโทษจำคุก   สาเหตุหนึ่งอาจเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า โทษปรับโดยลำพังไม่มีประสิทธิผลในการป้องปรามการทำผิดซ้ำ และความเชื่อที่ว่า โทษปรับจะสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน เพราะคนรวยมีความสามารถในการจ่ายค่าปรับมากกว่า 

คณะวิจัยเสนอว่าควรนำ “ค่าปรับตามรายได้ (day fines)” มาใช้ในประเทศไทย เพื่อทดแทนโทษจำคุกในกรณีที่มีการทำความผิดที่ไม่ใช่ความผิดอุจฉกรรจ์  โดยการลงโทษปรับตามรายได้ เป็นทางเลือกหนึ่งในการลงโทษที่ถูกใช้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลดีในหลายประเทศในยุโรป เช่น สวีเดนและเยอรมนี โดยมีการศึกษาสนับสนุนว่า โทษปรับที่สูงพอ สามารถป้องปรามการกระทำความผิดซ้ำได้
 
ทั้งนี้ โทษปรับตามรายได้แตกต่างจากโทษปรับทั่วไปคือ นอกจากค่าปรับจะสอดคล้องตามความร้ายแรง  หรือความหนักเบาของความผิดแล้ว ยังขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้กระทำความผิดอีกด้วย   ค่าปรับตามรายได้ถูกออกแบบมาเพื่อรักษาความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และความเป็นธรรมของคนที่มีระดับรายได้ต่างๆ กัน จึงน่าจะเหมาะสำหรับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เช่น ประเทศไทย ซึ่งผู้ที่รายได้สูงสุดร้อยละ 20 มีรายได้มากกว่าผู้ที่รายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ถึงประมาณ 12-15 เท่า   โทษปรับตามรายได้จึงสามารถป้องปรามคนทุกระดับรายได้ในการทำความผิดได้อย่างเท่าเทียมกัน   นอกจากนี้ การใช้ค่าปรับตามรายได้ยังมีข้อดีอีกประการหนึ่งคือ ค่าปรับจะถูกปรับเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อเกือบอัตโนมัติ เพราะค่าจ้างแรงงานของคนกลุ่มต่างๆ มักจะถูกกำหนดโดยขึ้นอยู่กับระดับค่าครองชีพอยู่แล้ว  ทำให้ค่าปรับอยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอ

กระบวนการบังคับโทษปรับตามรายได้ มีขั้นตอนต่างๆ  4 ขั้นตอน คือการคิดคำนวณค่าปรับตามความร้ายแรงของการกระทำ การประเมินรายได้สุทธิที่แท้จริงของผู้กระทำความผิด  การจัดเก็บค่าปรับและการกำหนดวิธีการลงโทษเสริม 

 สรุป การศึกษาของคณะผู้วิจัยให้ข้อเสนอแนะว่า  ประเทศไทยควรนำเอาโทษปรับตามรายได้มาใช้คดีอาญาที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนในการลงโทษผู้กระทำความผิด และสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้โทษปรับกับคนที่มีรายได้แตกต่างกันมากได้     นอกจากนี้ การใช้โทษปรับควรได้รับการหนุนเสริมด้วยโทษบริการสังคมในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่สามารถชำระค่าปรับได้   ส่วนโทษจำคุกนั้น ควรใช้เฉพาะในกรณีที่มีการทำความผิดร้ายแรงเท่านั้น. 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง