"จ่าง แซ่ตั้ง" จิตรกรรมนามธรรม บทกวีรูปธรรม

Logo Thai PBS
"จ่าง แซ่ตั้ง" จิตรกรรมนามธรรม บทกวีรูปธรรม

แม้จากไป 23 ปี แล้ว แต่ผลงานศิลปะของจ่าง แซ่ตั้ง ยังคงคุณค่า และเอกลักษณ์ของผู้บุกเบิกจิตรกรรมนามธรรมคนแรกของไทย โดยมีทิพย์ แซ่ตั้ง ลูกชาย เก็บรักษาไว้อย่างดี และแบ่งปันสู้สายตาผู้ชมไม่เคยขาด นำ 70 ผลงาน จ่าง แซ่ตั้ง มาจัดแสดงนิทรรศการ จิตรกรรมนามธรรม บทกวีรูปธรรม

"ฉันชอบเขียนบทกวี ฉันชอบงานจิตรกรรม เอาทั้งสองมารวมกัน ก็เป็นกวีรูปธรรม" ข้อความสั้นๆ ในบันทึกของ จ่าง แซ่ตั้ง บอกเล่าแนวคิดของผลงานที่ใช้คำว่า คน เพียงคำเดียวเขียนซ้ำๆ เรียงกันเป็นภาพสัตว์ต่างๆ โดยสื่อว่ามนุษย์มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะอ่อนโยนเหมือนกระต่าย หรือคนขี้อายซ่อนตัวไว้เหมือนหอย บทกวีที่เสพด้วยการมอง คือจิตรกรรมแบบนามธรรมที่ท้าทายยุคสมัยของ จ่าง แซ่ตั้ง

หากการเป็นคนแรกในประเทศไทย ยังเปิดทางให้ศิลปินรุ่นหลังได้ศึกษา และพัฒนาต่อ 23 ปี ที่จากไป คุณค่าของงานศิลปะเกือบ 6,000 ชิ้นที่ทิ้งไว้ ยังทำให้ ทิพย์ แซ่ตั้ง ลูกชาย นำมาจัดแสดงไม่ขาด ดังเช่น นิทรรศการ จิตรกรรมนามธรรม บทกวีรูปธรรม จัดแสดงกว่า 70 ผลงานที่ จ่าง แซ่ตั้ง สร้างสรรค์ในช่วงปี  1960-1979

เอาตัวหนังสือมาเรียงกัน บทกวีรูปธรรมก็เกิดขึ้น นี่ก็เป็นหนึ่งในข้อความที่คัดลอกมาจากข้อเขียนทัศนทางศิลปะของจ่างแซ่ตั้ง ค่ะ นำมาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบรรยากาศในนิทรรศการ เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาชมเนี่ยได้เข้าใจโครงสร้างทางความคิดของศิลปินมากขึ้นเพราะ ว่าอ่านแล้วเนี่ยก็เข้าใจแนวคิดได้ทันที

ไม่กี่วินาทีที่เอาสีน้ำมันใส่มือแล้วปาดลงบนผ้าใบ เกิดเป็นประติมากรรม 2 มิติที่ไร้ซึ่งสีสัน ในชื่อ "ขาวบนขาว" การใช้สีสร้างมิติที่ 2 เป็นแนวคิดใหม่ และไม่มีใครทำในช่วงปี 1961 ในความเรียบง่ายยังแสดงออกซึ่งแรงขับที่ จ่าง แซ่ตั้ง มุ่งมั่นเอาชนะข้อจำกัด การไม่มีเงินซื้อสี ด้วยความคิดสร้างสรรค์

ความสำคัญของมรดกตกทอดจากบิดาที่เคยมองว่าเป็นภาระ ทำให้ ทิพย์ แซ่ตั้ง พยายามศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์ให้เข้าใจแนวคิดของพ่อ จนทุกวันนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และตั้งใจใช้พลังที่เหลิอแบ่งปันผลงานชิ้นสำคัญของ จ่าง แซ่ตั้ง สู่สายตาผู้ชม

ก่อนหน้านี้หลายผลงานที่เคยขาย ให้บทเรียนว่าแม้มีเงินก็ซื้อคืนไม่ได้ ทิพย์ แซ่ตั้ง จึงแทบไม่ขายผลงานของพ่อแล้วในปัจจุบัน สะท้อนแนวคิดการทำงานที่คล้ายคลึงกับ จ่าง แซ่ ตั้ง ผู้ไม่เคยขายผลงานให้เงินชี้นำศิลปะจนตีกรอบความคิด

สารคดีสั้น "เพราะฉันต้องการ ที่ว่างของฉัน" ผลงานเขียนบท กำกับ และตัดต่อ ที่ทิพย์ แซ่ตั้ง ใช้เวลาเพียง 1 อาทิตย์ เล่าประวัติส่วนหนึ่งที่หยิบจากบันทึกส่วนตัว 3 แผ่นของ จ่าง โดยตั้งใจใช้เป็นสูจิบัตรดิจิตอลของงานนิทรรศการ และยังได้รางวัลชนะเลิศประเภทสารคดี รางวัล ดุ๊ก เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 16 นิทรรศการ จ่าง แซ่ตั้ง : จิตรกรรมนามธรรม บทกวีรูปธรรม จัดแสดงที่  หอศิลป์ g23 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง