นาฏกรรมธรรมศิลป์ "กาก"

Logo Thai PBS
นาฏกรรมธรรมศิลป์ "กาก"

เหมือนไม่สำคัญ แต่ตัวกากในโขน ละคร ก็เป็นตัวละครที่ขาดไม่ได้ และยังหมายถึงหน้ากากที่สวมใส่ในการแสดง และชีวิตจริง ซึ่งคณะโกมลศิลป์ นำมาสื่อสารผ่านผลงานนาฏกรรมธรรมศิลป์สะท้อนแนวคิดต่อสังคม

แม้อยู่ในตำแหน่งสูงศักดิ์ หากพ่ายต่อกิเลสยั่วยุ ก็นำไปสู่ความตกต่ำได้เช่นกัน เป็นแนวคิดที่สะท้อนผ่านการร่ายรำของตัวแสดงเทวดาที่ถูกตัวกากเล่นงาน 1 ในฉากการแสดงศิลปะร่วมสมัย เรื่อง "กาก" โดยคณะโกมลศิลป์ ที่ให้ผู้แสดงสวมหน้ากาก ไม่เพียงสื่อถึงมนุษย์ที่มักใส่หน้ากากเข้าหากัน หากยังเป็นสัญลักษณ์แทนตัวกาก หรือตัวละครแวดล้อมในการแสดงโขน ละคร ที่เหมือนไม่สำคัญ แต่มีส่วนให้เรื่องดำเนินไปสู่จุดจบได้ 

การแสดงออกด้วยท่าทางการเต้น สื่อความหมายของกากในแง่มุมต่างๆ อย่างกากจากการกระทำในฉากสันดาน/กากจากความรู้สึกนึกคิดในฉากจิตไร้สำนึก การปกปิดตัวตนให้เห็นเพียงด้านดีในฉากทะยาน และเศษซากปฏิกูลในฉากกระดูก ถือเป็นกากที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน ออกแบบโดยศุภชัย ดนตรี ศิษย์นาฏศิลป์ไทยร่วมสมัย ผู้สานต่อการแสดงในรูปแบบนาฏกรรมธรรมศิลป์ ตามแนวคิดของครูธงชัย หาญณรงค์ เพื่อให้ความหมายอิงพุทธปรัชญาในลีลานาฏศิลป์ไทยร่วมสมัยยังอยู่ แม้ครูที่เคารพจะจากไป

ศุภชัย ดนตรี หัวหน้าคณะโกมลศิลป์ กล่าวว่า นำแนวคิดเรื่องกาก มาจากครูที่เคยทำเรื่องร่างไว้ อยากให้มนุษย์เห็นในตัวตนที่ปกปิดว่าเป็นเหมือนกากในตัวเอง ขณะที่ นิมิตร พิพิธกุล ที่ปรึกษาคณะโกมลศิลป์ กล่าวว่า การสานต่องานของคณะโกมลศิลป์ที่มาจากคณะโกมลกูณฑ์ แต่ครั้งนี้ได้นำมาสู่สังคม

การเผยแพร่นาฏกรรมธรรมศิลป์ เป็นหนึ่งในงานส่งเสริมศิลปะสื่อสารสังคม ในโครงการมีเดีย อาร์ต ไอเดีย เกิดจากการรวมตัวของเยาวชน คนทำงานศิลปะ และนักจัดการศิลปะ นำสื่ออย่างการขับร้อง การเต้น ดนตรี หรือการชัดเชิดหุ่น มาจัดแสดงให้แง่คิดกับสังคม โดยผลงานแรก เปิดตัวคณะโกมลศิลป์ เรื่อง กาก นอกจากแสดงพลังในการสานเจตนารมณ์ของครูนาฏศิลป์ไทยร่วมสมัยคนสำคัญ ยังเป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาสังคมด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง