คนกรุงเทพฯ สั่งสอน "สำนักโพล"

การเมือง
3 มี.ค. 56
13:53
48
Logo Thai PBS
คนกรุงเทพฯ สั่งสอน "สำนักโพล"

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาแล้วแม้ยังไม่ได้ประกาศผลอย่างเป็นทางการ แต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้กลับมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.สมัยที่สอง

 ทั้งที่ช่วงใกล้วันเลือกตั้ง สถาบันการศึกษาหลายแห่ง ที่นิยมการ "สำรวจความคิดเห็น" ของประชาชน ถือเอาวาระนี้ทำ "เอ็กซิท โพล" ไปด้วย ให้ "คะแนนนำ" กับพล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ทั้งที่ช่วงแรก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ เป็นต่อนำมาก่อน

 
แต่ท้ายสุด และสุดท้ายของการชิงพื้นที่กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ยังได้ใจของคน กทม. ให้"คุณชายหมู" ดูแลสารทุกข์สุขดิบต่อไป
 
งานนี้เสียงเซ็งแซ่ เรื่องของเอ็กซิท โพล ทำเอาหลายสถาบันการศึกษา "เสียรังวัด" หรือจะเรียกว่า "เสียเครดิต" มากที่สุดก็ว่าได้
 
แม้เอแบคโพล ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, บ้านสมเด็จฯโพล ของมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, สวนสุนันทาโพล ของมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสวนสุนันทา, สวนดุสิตโพล ของ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต, กรุงเทพโพล ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ และยังโพลของสถานีโทรทัศน์บางช่อง ที่จัดทำขึ้นเอง ...ผลออกมาพลิกล็อกไปแล้ว
 
มีเพียง "เอ็นทรี โพล" (Entry Poll) ของนิด้า โพล หรือสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่ไทยพีบีเอส นำเสนอ น่าจะเป็นโพลเดียว ที่มีผลออกมาว่า ม.ร.ว.สุขุมพ้นธ์ ชนะใจคน กทม. ส่วนใหญ่
 
ถ้าว่ากันตามหลักการวิชาการแล้ว  การสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ เรียกได้ว่า ชาวกรุงเทพมหานคร สั่งสอน "คนทำโพล" อย่างเห็นได้ชัดว่า ...
 
เรื่องการเมือง ศาสนา และสถาบัน...เป็นเรื่องในใจ ที่ไม่มีใครอยากพูดออกมา หรือไม่บอกให้รู้กันตรงๆ นั่นไง
 
ส่วนข้อสงสัย...มีคำถามในโลกของออนไลน์  ถกเถียง แลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นกันมากว่า คำถามที่คนทำโพล ตั้งโจทย์เพื่อให้ได้ "ความคิดเห็น" มาประมวลให้ได้ภาพรวมนั้น...หลักวิชาการที่ใช้"ตอบโจทย์" ใช้ได้จริงหรือไม่? 
 
ที่สำคัญ...โลกออนไลน์ ครหาดังลั่นว่า (อาจ)มีเบื้องหลัง หรือมีเจตนาแฝงเร้นบางอย่างของบางคน ในการสำรวจความคิดเห็น...เพราะดูจากคำถาม ที่ชัดเจนว่า ชี้นำแล้ว เป็นคำถามที่คำทำโพลต้องส่องกระจกมองย้อนตัวเองแล้ว
 
มากไปกว่านั้น การทำโพลในเมืองไทย ที่เรียกว่ามีทุกสัปดาห์ ใน 1 สัปดาห์มีมากกว่าโพล 1 สำนัก เรื่องนี้ไม่ว่ากัน ...แต่ผลโพลออกมา หลายอย่างไม่ได้ให้ "องค์ความรู้" กับคนในสังคมนี่สิ...!! อยากถามเช่นกันว่า ทำไปทำไม
 
เช่นวาเลนไทน์ที่ผ่านมา...ผลสำรวจโพล มีคำตอบระบุเรื่องที่ว่า  วัยรุ่นอยากมีเพศสัมพันธ์กับแฟนในเทศกาลนี้....เปอร์เซ็นต์   คนดู คนอ่าน ฟังคำถามแล้ว ..รู้สึกอย่างไร?
 
คันความรู้สึกหรือไม่...ชี้นำไปไหมนี่ ถามเหมือนอยากให้วัยรุ่นที่มีคู่ ต้องหากิจกรรมทำกันอย่างนั้นน่ะหรือ !!
 
แม้แต้วันลอยกระทง ...ถามว่า คุณอยากลอยกระทงกับใคร...คำตอบที่ให้เลือก ก็ต้องเป็นนักการเมืองดัง เป็นเซเลบ เป็นดารา นักร้องดังในสังคม...คำถามแบบนี้ช่วยให้คนตอบได้ไปร่วมเทศกาลกับคนดังเหล่านั้นได้จริงหรือไม่
 
ถามเพราะต้องการความหมายอะไร? และให้องค์ความรู้ใหม่ๆ แก่คนในสังคมตรงไหน ??
 
หลักวิชาการของการทำโพลนั้นมีอยู่ นักวิชาการมีหลักวิชาชีพยึดถือ... แต่หลายๆ ครั้ง อยากให้คนทำโพล ย้อนกลับมาคิดและหาคำตอบด้วยว่า... สังคมที่อุดมด้วยปัญญานั้น โพลแบบไหน ถึงจะส่งเสริม สนับสนุนให้  "คนไทยเติมเต็มสติปัญญา"
 
อย่าให้สักแต่ว่า "ทำโพล" เลยเถิด !!
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง