"เจริญ" เชื่อยังไม่พิจารณา "นิรโทษกรรม" ในสมัยประชุมสภาฯนี้

การเมือง
25 มี.ค. 56
03:20
39
Logo Thai PBS
"เจริญ" เชื่อยังไม่พิจารณา "นิรโทษกรรม" ในสมัยประชุมสภาฯนี้

นักวิชาการเสนอทางออก 3 แนวทาง ในการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมือง ขณะที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่า จะไม่สามารถพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวได้ทันสมัยประชุมสภาฯนี้

นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตามที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร สั่งบรรจุร่าง พระราชบัญญัติหรือ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ของนายนิยม วรปัญญา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย และคณะ เข้าสู่วาระการประชุมสภาในวันที่ 27 มี.ค.นั้น เป็นการจัดตามระเบียบวาระ เมื่อมีผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. เข้ามา หากตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้อง ไม่มีปัญหาก็ต้องบรรจุ เพื่อพิจารณาไปตามวาระ

ส่วนการจะเลื่อนขึ้นมาพร้อมกับร่างกฎหมาย ของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสมาชิกในที่ประชุมจะเห็นควรอย่างไร แต่คิดว่ายังไม่มีการพิจารณาในช่วงนี้ เนื่องจากมีขั้นตอนการขอเสียงสนับสนุน และผู้เสนอร่างต้องหารือกับวิปรัฐบาลก่อน ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า จึงเชื่อว่าไม่น่าจะทันสมัยประชุมสภาฯนี้

ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ขณะนี้รายชื่อที่ร่วมลงชื่อทั้งหมดกว่า 300 คน จาก ส.ว.62 คน และ ส.ส.250 คน ฉะนั้นในการพิจารณาในวันที่ 1-2 เม.ย.นี้ ไม่น่าจะมีปัญหา เชื่อว่าผ่านได้ พร้อมยืนยันว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งมาตรา 190 และมาตรา 237 สามารถชี้แจงได้ทุกประเด็น ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ประโยชน์คนใดคนหนึ่ง

ขณะที่เวทีอภิปรายแนวทางการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน และการสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง นายแพทย์ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่า การนิรโทษกรรม ต้องเป็นคำตอบสุดท้ายหลังการขยายผลรายงานของ คอป. โดยผู้ที่มีความผิดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และกระบวนการเยียวยา เพราะต้องให้สังคมได้รับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อนเข้าสู่กระบวนการนิรโทษกรรม เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย

ขณะที่นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นปัญหาในหลายแง่ทั้งสังคมและวัฒนธรรมทางกฏหมาย ที่จะก่อผลกระทบตามมามากมาย ส่วนตัวมีข้อเสนอนิรโทษกรรม 3 ทางเลือกคือ แบบไม่มีข้อจำกัด แต่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าไม่ถูกต้อง เพราะที่สุดแล้วอาจเกิดความขัดแย้งและเข่นฆ่ากันขึ้นมาอีก เพราะสามารถออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้

การออกนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไขมีข้อจำกัด โดยผ่านคณะกรรมการสอบสวน และดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด หาผู้กระทำผิดมาลงโทษ เช่น กรณีนาซีที่มีการดำเนินคดีมาตลอดเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือการติดตามจับกุมกบฏของอิสราเอลที่ยังคงดำเนินอยู่จนถึงทุกวันนี้ ด้านนายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ มีขั้นตอน ต้องค่อยๆดำเนินการ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง