"สมศักดิ์"วอนสมาชิกถกแก้รธน.อย่าพาดพิงคนนอก เน้นอภิปรายอย่างมีประสิทธิภาพ

การเมือง
2 เม.ย. 56
08:50
41
Logo Thai PBS
"สมศักดิ์"วอนสมาชิกถกแก้รธน.อย่าพาดพิงคนนอก เน้นอภิปรายอย่างมีประสิทธิภาพ

ประธานรัฐสภาขอความร่วมมือสมาชิก อภิปรายมีประสิทธิภาพ ไม่พาดพิงบุคคลภายนอก ขณะที่วิปฝ่ายค้าน ระบุ วิป 3 ฝ่ายตกลงจัดสรรเวลาให้ฝ่ายค้านเพิ่มเป็น 15 ชั่วโมง จากเดิม 11 ชั่วโมง พร้อมย้ำ หาก "สมศักดิ์" ไม่นั่งประธานการประชุม จะไม่อภิปราย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน ระบุการหารือกรอบเวลาในการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยมีการเพิ่มเวลาให้ฝ่ายค้าน เป็น 15 ชั่วโมงจากเดิม 11 ชั่วโมง ทั้งนี้ ฝ่ายค้านยืนยันว่า จะขึ้นอภิปรายต่อเมื่อ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นั่งเป็นประธานในที่ประชุมเท่านั้น

ขณะที่ประธานรัฐสภา ขอความร่วมมือสมาชิกใช้เวลาอภิปรายอย่างมีประสิทธิภาพ และอย่าพาดพิงบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องให้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากเมื่อวาน (1เม.ย.56) ที่ผ่านมามีการอภิปรายทั้งหมด 12 ชั่วโมง ซึ่งมีการประท้วงยาวนานถึง 5 ชั่วโมง

ขณะที่ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่าด้วยเรื่องพิทักษ์รัฐธรรมนูญในการใช้สิทธิ์ของประชาชน โดยระบุว่า หัวใจหลักของประชาธิปไตย คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญ ปี 40 และปี 50 ได้เพิ่มสิทธิของประชาชน อาทิ การร่วมออกกฏหมาย การตรวจสอบการทำหน้าที่ของนักการเมือง ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่นั้นจะตัดช่องทางการตรวจสอบของประชาชน ทำให้ประชาชนไม่สามารถร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ทำได้แค่ยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดเท่านั้น จึงถือว่าเป็นการตัดสิทธิของประชาชน

ทั้งนี้ นพ.สุกิจ ได้อภิปรายคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่าด้วยการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ ว่า เป็นการตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนออกทั้งหมด จากเดิมที่ประชาชนจะได้รับข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน รวมถึงประชาชนต้องเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญา ซึ่งถ้าหากได้รับผลกระทบ จะต้องแก้ไข และเยียวยาอย่าเร่งด่วน แต่ถ้ามีการแก้ไขมาตรา 190 จะทำให้เมื่อรัฐบาลทำสนธิสัญญา รายละเอียดดังกล่าวจะหายไป และจะไม่ได้รับการเยียวยา หากได้รับผลกระทบ

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา นพ.สุกิจ อภิปรายคัดค้านร่างดังกล่าวว่า สมาชิกวุฒิสภา ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เนื่องด้วยบทบาทของสมาชิกวุฒิสภามีความสำคัญ และถ้าที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ไม่ต่างกับ ส.ส. ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีคุณสมบัติพิเศษอย่างไรในการถอดถอน ส.ส. และสมาชิกวุฒิสภาให้น้ำหนักกับการยึดโยงกับประชาชนน้อยมาก แต่ยึดโยงกับความรู้ความสามารถของสมาชิกวุฒิสภามากกว่า


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง