นกแต้วแล้วท้องดำใกล้สูญพันธุ์

สังคม
15 มิ.ย. 54
03:00
46
Logo Thai PBS
นกแต้วแล้วท้องดำใกล้สูญพันธุ์

นกแต้วแล้วท้องดำเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทยที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างมาก ผลการศึกษาล่าสุดพบว่า เหลือประชากรอยู่เพียง 13 ตัวเท่านั้น เนื่องจากที่อยู่อาศัยของพวกมันถูกบุกรุกเพื่อปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งกลุ่มนักอนุรักษ์เรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องดูแลและป้องกันการบุกรุกป่าอย่างมีประสิทธิภาพ

นกแต้วแล้วท้องดำได้รับการยกย่องให้เป็นนกที่สวยงามที่สุด 1 ใน 30 ชนิดของโลก มีถิ่นอาศัยอยู่เฉพาะทางภาคใต้ของไทยและพม่าเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยเข้าใจกันว่านกแต้วแล้วท้องดำได้สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 แต่เมื่อปี พ.ศ.2529 ก็มีรายงานการพบนกแต้วแล้วท้องดำอีกครั้ง ที่เขานอจู้จี้ จังหวัดกระบี่
 
ซึ่งในโอกาสครบรอบ 25 ปีของการค้นพบนกแต้วแล้วท้องดำ กลุ่มนักอนุรักษ์ก็ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดเสวนาเพื่อหาแนวทางปกป้องประชากรและถิ่นอาศัยของนกแต้วแล้วท้องดำ
 
นายฟิลลิปส์ ดี ราวนด์ หนึ่งในนักปักษีวิทยาที่เป็นผู้สำรวจพบนกชนิดนี้ ระบุว่า ปัจจัยที่มีผลทำให้ประชากรนกลดลงมากที่สุด คือการที่ถิ่นอาศัยแหล่งสุดท้ายของนกแต้วแล้วท้องดำ คือป่าเขานอจูจี้ ซึ่งเป็นป่าที่ราบต่ำผืนสุดท้ายของไทย ถูกบุกรุกเปลี่ยนเป็นสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน จนเหลือพื้นที่ป่าจริงๆ ให้นกอาศัยไม่ถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับเมื่อ 25 ปีก่อน
 
หลังการค้นพบ การสำรวจศึกษาของนักปักษีวิทยาเคยพบว่า มีประชากรนกแต้วแล้วท้องดำมากถึง 20-30 คู่ แต่ล่าสุดกลับพบว่า เหลือเพียง 13 ตัว และไม่สมดุล เพราะเป็นนกตัวเมียเพียง 3-4 ตัวเท่านั้น
 
ทางผู้แทนจากกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ยอมรับว่า มีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เขานอจู้จี้จริง เพราะมีแรงจูงใจจากราคายางพาราและปาล์มที่สูงขึ้นมาก นอกจากนี้ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นป่าที่ราบก็ทำให้การบุกรุกถากถางทำได้ง่าย และยังมีปัญหานายทุนผู้มีอิทธิพลบุกรุกออกเอกสารที่ดินโดยไม่ชอบอีกด้วย
 
ส่วนแนวทางแก้ไขและป้องกัน นอกจากมาตรการเข้มในการดูแลรักษาผืนป่าแล้ว จะต้องอาศัยประสานความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นให้เห็นความสำคัญ และร่วมเป็นหูเป็นตาในการแจ้งเบาะแสผู้บุกรุกแก่เจ้าหน้าที่
 
นกแต้วแล้วท้องคำเป็น 1 ในสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิดของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าได้สูญพันธ์ไปจากธรรมชาติแล้ว อย่างเช่น นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร แรด กระซู่ กูปรี เนื้อสมัน ละมั่ง นกกระเรียน และแมวลายหินอ่อน ส่วนสัตว์ป่าสงวนชนิดที่ยังไม่สูญพันธุ์ก็เหลือประชากรน้อยมาก ไม่ต่างไปจากนกแต้วแล้วท้องดำ ซึ่งปัญหาใหญ่ก็คือ การถูกบุกรุกถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันนั่นเอง
 
ส่วนชื่อของนกแต้วแล้วท้องดำยังเป็นข้อถกเถียงที่ไม่ยุติ ว่าใช้ “ร” หรือ “ล” แต่สุดท้ายก็สามารถใช้ได้ทั้ง 2 แบบ
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง