ไข้เลือดออกระบาดรุนแรงมากขึ้น

สังคม
16 มิ.ย. 54
03:06
2
Logo Thai PBS
ไข้เลือดออกระบาดรุนแรงมากขึ้น

ตัวเลขผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพียงครึ่งปีแรกของปีนี้พบผู้ป่วยแล้วกว่า 14,000 คน ขณะที่สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้ยุงมีการพัฒนาตัวเองมากขึ้น โดยผลวิจัยล่าสุด ระบุว่ายุงพัฒนาตัวเองให้สามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้นานขึ้น ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม

รศ.ชำนาญ อภิวัฒนศร หัวหน้าภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการที่ยุงลายมีการพัฒนาตัวเองให้สามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ เช่น การวางไข่ โดยพบว่ายุงสามารถวางไข่ได้ตามผนังที่มีความชื้น แม้ว่าผนังนั้นจะแห้งลง แต่ไข่ยุงก็ยังคงอยู่ต่อไปได้อีกถึง 5 ปี เมื่อได้รับความชื้นหรือน้ำก็จะฟักเป็นตัวเหมือนเดิม โดยเฉพาะยุงลายตามสวนที่มีช่วงอายุ 1 เดือน สามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาพแวดล้อมได้
 
ส่วนการเติบโตของสังคมเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แต่ระบบการจัดการสภาพแวดล้อมของประเทศยังไม่ดีพอ และสภาพภูมิอากาศที่อุณหภูมิสูงขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เชื้อไวรัสที่มีอยู่ในตัวยุงเจริญขึ้น โดยตัวยุงจะมีขนาดเล็กลงและมีพฤติกรรมการกินบ่อยๆ ส่งผลให้คนที่โดนยุงกัดได้รับเชื้อไวรัสถี่ขึ้น และรวมถึงเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างไม่เป็นเวลา
 
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่ากระทรวงสาธารณสุขได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU ในการป้องกันความคุมโรคไข้เลือดออก ระหว่าง กรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมป้องกันโรคให้ดียิ่งขึ้น โดยเน้นการพัฒนา ผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง กระตุ้นให้ทุกครอบครัวดูแลเอาใจใส่บ้านเรือน จัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งคาดว่าการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนนี้จะสามารถจัดการกับปัญหาโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อนำโดยแมลงอื่นๆ ได้อย่างดี
 
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า แต่ละปีพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกประมาณ 50 ล้านคน โดยผู้ป่วยประมาณ 38 ล้านคนหรือร้อยละ 75 ของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในประเทศแถบอาเซียน เนื่องจากสภาพเป็นพื้นที่ในแถบร้อนชื้น เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของลูกน้ำยุงลาย โดยในปี 2552 มีตัวเลขผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกใน 10 ประเทศอาเซียนเกือบ 200,000 ราย ส่วนในประเทศไทย สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรครายงานผู้ป่วยตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 - 7 มิถุนายน 2554 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 14,526 ราย โดยภาคกลางมีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาคือภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีผู้เสียชีวิตแล้วรวม 10 คน
 
สำหรับสาเหตุของไข้เลือดออกเกิดจากผู้ป่วยถูกยุงลายตัวเมียที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัด ยุงลายตัวเมีย 1 ตัว สามารถผลิตยุงรุ่นลูกได้ ราว 500 ตัว หลังถูกยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัดประมาณ 5-8 วัน จะเริ่มแสดงอาการป่วย โดยเริ่มจากมีไข้สูงกระทันหัน ไข้จะสูงติดต่อกัน 2-7 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าแดง ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูก คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีผื่นหรือจุดแดงๆขึ้นที่ใต้ผิวหนัง หลังจากนั้นไข้จะลง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 97 จะฟื้นตัวและหายเป็นปกติ โดยมีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 3 จะเกิดอาการช็อก เนื่องจากมีเลือดออกในอวัยวะภายใน มีอาการซึม อ่อนเพลีย กระสับกระส่าย อาจเสียชีวิตได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง