องค์กรสื่อ-ธุรกิจจับมือเรียกร้องปรองดอง

สังคม
21 มิ.ย. 54
03:20
8
Logo Thai PBS
องค์กรสื่อ-ธุรกิจจับมือเรียกร้องปรองดอง

แม้การเลือกตั้งครั้งนี้ จะถูกคาดหวังให้เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมืองท่ามกลางความขัดแย้งตลอด 6 ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีความห่วงใยถึงสถานการณ์หลังการเลือกตั้งว่า อาจกลับเข้าสู่วงจรความขัดแย้งแบบเดิมๆ อีกครั้ง

2 องค์กรด้านสื่อสารมวลชน และ 5 องค์กรธุรกิจ ที่จับมือกันออกมาเรียกร้องให้ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อนำพาประเทศชาติไปสู่ความปรองดอง ถูกสื่อสารออกมาในลักษณะของแถลงการณ์ที่ใช้ชื่อว่า "ก้าวข้ามความรุนแรงสู่สังคมปรองดอง" ถือเป็นการส่งสัญญาณร้องขอให้การเมืองหลังการเลือกตั้งของประเทศกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง
 
2 องค์กรสื่อ คือ สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในครั้งนี้ มองทิศทางของการเลือกตั้ง โดยระบุถึงเค้าลางของปมความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากการตอบโต้กันของนักการเมือง แม้จะเป็นวาระปกติที่สิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่หากการตอบโต้ยังทวีความรุนแรง ก็อาจขยายวงไปสู่ความขัดแย้งในกลุ่มคนที่กว้างขึ้นได้
 
ขณะที่องค์กรภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ออกมารวมตัวกันต่างก็มองไปถึงทิศทางการเติบโตของประเทศ หากต้องตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งเหมือนหลังการเลือกตั้งครั้งก่อน ซึ่งเลขาธิการสมาคมธนาคารไทยระบุว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยต้องกลับไปเผชิญกับความรุนแรงอีกครั้ง นั่นหมายถึงความเสียหายของประเทศที่ยากจะฟื้นฟู
 
แม้จะยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้ง แต่ภาคธุรกิจก็มีการส่งสัญญาณถึงความห่วงใยการเมืองของไทยออกมาแล้ว โดยผ่านช่องทางการลงทุน ที่มีการทยอยขายหุ้นของนักลงทุนในช่วง 2 สัปดาห์ก่อน
 
ขณะที่ผู้ประสานงานที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทยมองว่า นอกจากแง่มุมของการลงทุน ความห่วงใยสถานการณ์ทางการเมืองของไทยยังสะท้อนผ่านองค์กรต่างชาติ ที่ขอเข้ามาร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งพรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส. มีหน้าที่โดยตรงที่จะควบคุมความรุนแรงและรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น
 
สำหรับข้อเรียกร้องหลักของ 7 องค์กรที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ ประกอบด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต้องยอมรับผลการเลือกตั้งและหลีกเลี่ยง หรือไม่ดำเนินการด้วยประการใดๆ ที่จะนำประเทศกลับไปสู่ความรุนแรงทุกรูปแบบ
 
ขณะเดียวกันต้องแสดงเจตจำนงทางการเมืองว่าจะให้ความสำคัญกับกระบวนการลดความขัดแย้งอันจะนำไปสู่ความปรองดองของประเทศ โดยให้ถือเป็นสัญญาประชาคมว่าหลังเลือกตั้งจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และการสร้างความปรองดองต้องดำเนินการโดยองค์กรที่เป็นอิสระ และไม่ใช่คู่ขัดแย้ง โดยมีกระบวนการที่เหมาะสมและเป็นธรรม
 
ตัวแทนจากทั้ง 7 องค์กรยืนยันว่า หลังการเรียกร้องครั้งนี้จะเฝ้าติดตามปฏิกิริยาและการปฏิบัติของฝ่ายการเมืองอย่างใกล้ชิด ว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อยังจะประสานกับภาคีอื่นๆ ซึ่งหากมีภาคส่วนใดเห็นด้วย ก็เตรียมขยายเครือข่ายเพื่อให้ความปรองดองเกิดขึ้นจริงในสังคมต่อไป
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง