กองทุน"เอฟทีเอ" เสริมจุดเด่นเกษตรกรไทย พัฒนา"สมาร์ทฟาร์มเมอร์"

สิ่งแวดล้อม
14 มิ.ย. 56
10:29
215
Logo Thai PBS
กองทุน"เอฟทีเอ" เสริมจุดเด่นเกษตรกรไทย พัฒนา"สมาร์ทฟาร์มเมอร์"

กองทุน FTA พร้อมรับมือผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า เปิดเวทีเมืองโอ่งราชบุรี ลดจุดด้อย เสริมจุดเด่น เตรียมพร้อมให้เกษตรกรภาคกลางและภาคตะวันตกในแหล่งผลิตสินค้าสำคัญ ให้ทัดเทียมต่างประเทศ

 นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “กองทุน FTA : ลดจุดด้อย เสริมจุดเด่น   ให้เกษตรกรไทยพร้อมสู่ AEC” เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมเวสเทิร์น แกรนด์ โฮเต็ล จังหวัดราชบุรี ว่า สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรฯ เห็นถึงความจำเป็นในการเร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าทุกกรอบการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายชนิด อาทิ โคนม โคเนื้อ ข้าว มะพร้าว   ไม้ตัดดอก และผักต่างๆ เป็นต้น จึงได้จัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุน FTA ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และให้สถาบันเกษตรกร หน่วยงานราชการ ตลอดจนภาคเอกชนในภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตก ได้เสนอขอเงินจากกองทุนฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าทุกกรอบการค้าดังกล่าว โดยเฉพาะการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 

 
สำหรับการเปิดเสรีการค้า แม้จะมีผู้รับประโยชน์เป็นจำนวนมากก็จริง แต่ก็จะมีผู้ผลิตอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตกที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศหลายชนิด อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า 
 
ดังนั้น การลดจุดด้อยเสริมจุดเด่นในสินค้าการเกษตรดังกล่าว จึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการรับมือต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายสร้างเกษตรกรไทยให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ คือ มีความรู้ในเรื่องการทำการเกษตรเป็นอย่างดี ตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร รวมทั้งมุ่งนำเกษตรกรสู่การทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการลดต้นทุนการผลิต 
 
ทั้งนี้ การช่วยเหลือให้เกษตรกรมีขีดความสามารถการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่อการพัฒนา ซึ่งกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือกองทุน FTA จะเป็นเครื่องมือช่วยเหลือเกษตรกร โดยปัจจุบันได้ให้การช่วยเหลือเกษตรกรผ่านโครงการต่างๆ ไปแล้ว 16 โครงการ รวม 8 ชนิดสินค้า ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ข้าว ชา โคเนื้อ โคนม สุกร และผักเมืองหนาว คิดเป็นวงเงิน 597.10     ล้านบาท ทั้งนี้ การจัดสัมมนาดังกล่าว จะช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรในแหล่งการผลิตทั้งปศุสัตว์ ข้าว มะพร้าว และไม้ตัดดอก ให้มีศักยภาพการแข่งขันที่ทัดเทียมหรือดีกว่าสินค้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีและมั่นคงต่อไป
 
 
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง