มหัศจรรย์ชาวเดียงพลาโต ชุมชนกลางปล่องภูเขาไฟในอินโดนีเซีย

Logo Thai PBS
มหัศจรรย์ชาวเดียงพลาโต ชุมชนกลางปล่องภูเขาไฟในอินโดนีเซีย

ความอุดมสมบูรณ์เป็นสมบัติล้ำค่าที่ธรรมชาติมอบให้กับชาวเดียงพลาโต หรือ ที่ราบสูงเดียง ชุมชนกลางปล่องภูเขาไฟในอินโดนีเซีย แร่ธาตุมากมายและแหล่งน้ำใต้ดินจากภูเขาไฟและลาวา ทำให้สามารถเพาะปลูกพืชพันธุ์ได้หลากหลายตลอดทั้งปี ความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ ทำให้ดินแดนแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า เมืองแห่งเทพเจ้า

ภูมิอากาศหนาวเย็นตลอดปีท่ามกลางธรรมชาติที่รายล้อมไปด้วยภูเขาสูง คาบเกี่ยวเมืองโวโนโซโบและบันจาเนการา ห่างจากเมืองยอกยาการ์ตาเพียง 135 กิโลเมตร คือเสน่ห์ของเดียงพลาโตหรือที่ราบสูงเดียง อู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของอินโดนีเซีย แม้เป็นภูเขาไฟขนาดใหญ่บนเกาะชวาที่ดับไปนานแล้ว และกลายเป็นชุมชนกลางปล่องภูเขาไฟในปัจจุบัน หากรอบๆยังมีเครเตอร์หรือปากปล่องภูเขาไฟนับสิบที่พลังงานใต้ดินยังทำงานอยู่ ระบายออกกลายเป็นโคลนเดือดเต็มไปด้วยไอร้อนและกลิ่นกำมะถันที่กระจายฟุ้งและตกตะกอนทั่วพื้นที่ ขณะที่บริเวณที่เคยเป็นจุดประทุของลาวา กลายเป็นแอ่งน้ำและทะเลสาบที่สำคัญของชุมชน

คาวาชิกิดัง 1 ในเครเตอร์หรือปากปล่องภูเขาไฟที่มีพลังงานใต้ดินหลงเหลืออยู่บนเดียงพลาโต หรือที่ราบสูงเดียงแห่งนี้ เราจะสังเกตได้จากกลุ่มไอน้ำร้อนที่ลอยออกมาจากปล่องด้านหลังนี้ แต่ว่าพื้นที่อื่นที่พลังงานใต้ดินหมดแล้ว เป็นที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนเดียง และพลังงานมากมายที่กลายเป็นแร่ธาตุต่างๆใต้ดิน เป็นพื้นที่สำคัญทำการเกษตรของชาวชุมชน

ทุกพื้นที่ถูกใช้อย่างคุ้มค่าแทบทุกตารางเมตร ตั้งแต่ไหล่เขาไปจนถึงยอดเขา ปลูกพืชผักขนาดเล็กผสมผสานทั้ง ชา มันฝรั่ง ยาสูบ ผักกาด กะหล่ำ และแครอท ความอุดมสมบูรณ์ของดินที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุจากการทับถมของภูเขาไฟและลาวา ขณะที่ใต้ดินที่เคยเป็นลาวาถูกแทนที่ด้วยน้ำมากมาย ทำให้ชาวเดียงสามารถเพาะปลูกได้ทุกพื้นที่ โดยไม่เคยขาดแคลนน้ำ ทำการเกษตรตลอดทั้งปี

ซูยานโต บีน รูสมานโต้ เกษตรกรชาวอินโดนีเซีย เผยว่า เขาใช้น้ำจากใต้ดินเป็นหลักในการเพาะปลูก เพราะตาน้ำหาได้ง่าย สามารถขุดพบได้ทุกที่ ชาวบ้านจึงทำอาชีพเกษตรกรเป็นหลักเพราะลงทุนน้อย โดยพืชผักที่ปลูกได้ส่วนหนึ่งใช้บริโภคในครอบครัวและส่งออกไปขายจังหวัดอื่นในอินโดนีเซีย เน้นกสิกรรมแบบพอมีพอกิน

บนชัยภูมิเมืองที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ที่ราบสูงเดียงยังเต็มไปด้วยร่องรอยโบราณสถานตามความเชื่อของฮินดูนับ 200 แห่ง จึงถือกันว่าเป็น“เมืองแห่งเทพเจ้า” และเป็นต้นทางอารยธรรมฮินดูรุ่นแรกๆในเกาะชวา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง