เครือข่ายบำนาญประชาชนค้านยกเลิกกฎหมาย กอช.ชี้ละเมิดสิทธิประโยชน์ปชช.

22 ส.ค. 56
15:03
90
Logo Thai PBS
เครือข่ายบำนาญประชาชนค้านยกเลิกกฎหมาย กอช.ชี้ละเมิดสิทธิประโยชน์ปชช.

กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการสอบถามความเห็นร่างกฎหมายยกเลิกการออมแห่งชาติ โดยอ้างเหตุความซ้ำซ้อนกับมาตรา 40 ของกฎหมายประกันสังคม ทำให้ความหวังของประชาชนอายุ 15-60 ปี ที่จะมีเงินบำนาญยามชราภาพไว้ใช้ในบั่นปลายชีวิตต้องหมดลงไป ซึ่งวันนี้ (22 ส.ค.2556) เครือข่ายบำนาญประชาชนยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว พร้อมกับยืนยันคัดค้านการยกเลิกกฎหมาย เพราะเห็นว่าการยกเลิกกฎหมายดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิประโยชน์และการมีส่วนร่วมของประชาชน 30 ล้านคน ที่ต้องถูกโอนไปอยู่ในมาตรา 40 ของกฎหมายประกันสังคม

หนังสือด่วนส่งถึงน.ส.อรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายบำนาญประชาชน ขอเชิญร่วมเเสดงความคิดเห็น ต่อร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกการออมเเห่งชาติ (กอช.) ที่ลงนามโดย น.ส.กรรณิการ์ เอกเผ่าพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ปฏิบัติราชการเเทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนส่วนหนึ่ง ที่มองว่ารัฐบาลไม่มีเหตุผลเพียงพอ ที่จะออกกฎหมายยกเลิกการออมเเห่งชาติ ทั้งที่ยังไม่มีการดำเนินงานขึ้นตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

การส่งหนังสือรับฟังความคิดเห็นถึงน.ส.อรุณี เพียงคนเดียว โดยให้เวลาตัดสินใจไม่ถึง 1 สัปดาห์ อีกทั้งไม่มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เป็นสิ่งที่เครือข่ายบำนาญประชาชนมองว่า การดำเนินงานดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเเรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน ที่ไม่มีสิทธรับรู้การเปลี่ยนเเปลงครั้งนี้

ขณะที่คณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย (คปก.)เห็นว่า การยกเลิกกฏหมายดังกล่าว อาจเป็นการริดรอนสิทธิประโยชน์ของประชาชน และไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่มีการพิจารณาตามระบบรัฐสภา จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะยกเลิกกฎหมายฉบับนี้

การอ้างเหตุเพราะความซ้ำซ้อนกับการสนับสนุนการออมผ่านมาตรา 40 ของกฎหมายประกันสังคม ทำให้ต้องยกเลิกกฎหมายการออมแห่งชาตินั้น นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มองว่าเป็นการทำลายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการเสนอกฎหมายฉบับนี้ แม้แต่พรรคเพื่อไทยสมัยเมื่อครั้งเป็นฝ่ายค้าน และยังเป็นการละเมิดการมีส่วนร่วมของประชาชนกว่า 30 ล้านคน ที่จะต้องถูกโอนไปอยู่ในมาตรา 40 โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่ต้องเสียสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ เพราะระเบียบกำหนดไว้ว่าต้องไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ แต่สำนักงานประกันสังคม เป็นหน่วยงานของรัฐ

ทางออกในเรื่องนี้ นักวิชาการ เสนอว่าต้องแก้ไขกฎหมายการออมแห่งชาติและกฎหมายประกันสังคมในบางมาตรา โดยให้ประชาชนทั้งหมดที่ต้องการออมอยู่ภายใต้กฎหมายการออมแห่งชาติ และให้กองทุนการออมแห่งชาติมีสถานะเป็นนิติบุคคล ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ และสุดท้ายให้ผู้ประกันตนสามารถโอนย้ายเงินออมของตนจากกองทุนประกันสังคมมาไว้ที่กองทุน กอช.ได้ ในทางกลับกันคนทำอาชีพอิสระ อยากเป็นลูกจ้าง สามารถโอนเงินจากกองทุน กอช.ไปออมกับกองทุนประกันสังคมได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง