ครม.ถกแก้ปัญหาราคายางพารา

การเมือง
10 ก.ย. 56
07:56
28
Logo Thai PBS
ครม.ถกแก้ปัญหาราคายางพารา

การประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (10 ก.ย.)นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล จะรับหน้าที่เป็นประธาน เพื่อพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรสวนยาง กรณีราคายางพาราตกต่ำ ตามข้อเสนอของกนย. พร้อมกับประเมินสถานการณ์ ทั้งความเสียหายจากการชุมนุมในช่วง 12 วันที่ผ่านมาและเตรียมพร้อมรับมือกับการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 กันยายนนี้

ในวันนี้ (10 ก.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุม ครม. แทน โดยวาระสำคัญจะนำเรื่องการปรับราคายางพารา ตามข้อเรียกร้องของเกษตรกรสวนยางพาราขึ้นมาหารืออีกครั้ง พร้อมกับประเมินสถานการณ์การชุมนุมกลุ่มเกษตรกรที่ยื่นคำขาดให้นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่มาแก้ปัญหาด้วยตนเอง ก่อนยกระดับการชุมนุมด้วยการเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลในวันที่ 14 กันยายนนี้

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ หรือกนย. จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบมติกนย. ที่ กำหนดเพิ่มเงินช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 25 ไร่ อัตราไร่ละ 2,250 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 1,260 บาทต่อไร่ คิดเป็นเงินสมทบผลักดันราคายางพาราให้สูงขึ้นอีก 12 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมที่เพิ่มเงินสมทบให้เพียง 6 บาทต่อกิโลกรัม และคาดการณ์ว่าจะให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 ถึง 31 มีนาคม 2557 รวมระยะเวลา 7 เดือน และรวมใช้จ่ายงบประมาณช่วยเหลือกว่า 21,288 ล้านบาท ซึ่ง ทั้งนี้รวมกับเงินช่วยเหลือของรัฐบาลแล้ว ชาวสวนยางจะมีรายได้ 90 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะที่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะรายงานผลกระทบม็อบยางต่อการท่องเที่ยว 5 จังหวัดภาคใต้ คือ จ.นครศรีธรรมราชสุราษฎร์ธานี ชุมพร พัทลุง และประจวบคีรีขันธ์ เสียหายรวม 475 ล้านบาท จากปัญหาความล่าช้าในการเดินทาง และมีรายงานว่ากระทรวงการต่างประเทศ จะขอความเห็นชอบการลงนามว่าด้วยความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมอนเตเนโกร ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการไทยกับมอนเตเนโกร

นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมจะเสนอแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารกระทรวงระดับ 10 จำนวน 2 ตำแหน่ง และจะขอต่ออายุราชการ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษออกไปอีก 1 ปี หลังจากดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี

ส่วนกระทรวงคมนาคมจะขออนุมัติกู้เงินวงเงิน 3,000 กว่าล้านบาท เพื่อชดเชยหนี้ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 2,000 กว่าล้านบาทและค่าซ่อมแซมอีกพันกว่าล้านบาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง