ตุลาการศาล รธน.รับคำร้องกรณีแก้ รธน.ที่มา ส.ว.

การเมือง
26 ก.ย. 56
04:42
58
Logo Thai PBS
ตุลาการศาล รธน.รับคำร้องกรณีแก้ รธน.ที่มา ส.ว.

ส.ว.สรรหา จะเดินทางไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.วันนี้ (26 ก.ย.) เพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวนสมาชิกรัฐสภา ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว. ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติรับคำร้องขอให้วินิจฉัยกรณีการแก้รัฐธรรมนูญ ว่าด้วยที่มาส.ว. เข้าข่ายกระทำการต้องห้ามตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแล้ว

ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 2 รับคำร้องที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กับพวก และคำร้องของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ กับพวก ที่ขอให้วินิจฉัยตาม ม.68 ว่า นายนิคม ไวยรัชพาณิช ประธานวุฒิสภา กับพวกรวม 310 กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครอง หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติ ไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง แต่ไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อชะลอการลงมติในวาระที่ 3 แต่อย่างใด

ด้านทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว.เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ รวมทั้งขอให้มีคำสั่งไต่สวนเพื่อพิจารณากำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวชะลอการลงมติวาระ 3 ไว้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย และขอให้มีคำสั่งว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นโมฆะ โดยฝ่ายค้านมีหลักฐานที่เป็นคลิปวิดิโอของ ส.ส.พรรคการเมือง พรรคหนึ่งที่เสียบบัตรแทนกัน ระหว่างการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว.ในมาตรา 9 และลงมติในมาตรา 10

โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่สภายังเรียกประชุมเพื่อลงมติวาระ 3 ในวันที่ 28 กันยายนนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ร่วมลงมติด้วย เพราะเคารพในอำนาจศาล เมื่อศาลสั่งก็เท่ากับกระบวนการนี้ต้องเป็นโมฆะ

นอกจากนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติรับคำร้อง นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 มาตรา 27 กรณีการจัดสรรงบประมาณของศาลยุติธรรม, ศาลปกครอง และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และมีคำสั่งให้ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย, สำนักงบประมาณ, สำนักงานศาลปกครอง, สำนักงานศาลยุติธรรม และ ป.ป.ช. ทำคำชี้แจงส่งภายในวันที่ 1 ตุลาคม ก่อนเข้าชี้แจงต่อศาลในวันที่ 2 ตุลาคมนี้

ขณะที่วันที่ 26 กันยายนนี้ นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า จะเดินทางไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวนสมาชิกรัฐสภาจำนวน 310 คน ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว. เนื่องจากระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว พบพฤติกรรมของสมาชิกและประธานในที่ประชุม ขัดต่อรัฐธรรมนูญ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง