ฝ่ายค้านเตรียมยื่นศาลรธน.วินิจฉัย หากรัฐสภาลงมติแก้ไขรธน.วาระ 3

การเมือง
27 ก.ย. 56
04:16
40
Logo Thai PBS
ฝ่ายค้านเตรียมยื่นศาลรธน.วินิจฉัย หากรัฐสภาลงมติแก้ไขรธน.วาระ 3

แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของส.ว.ไว้พิจารณาว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ไม่ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว แต่ทางรัฐบาลยังคงเดินหน้าให้มีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่ 3 ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ ขณะที่ฝ่ายค้านยังยืนยันว่า จะลงมติไม่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 อย่างแน่นอน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า หากที่ประชุมสภาฯ ลงมติผ่านความเห็นชอบในวาระ 3 แล้ว ฝ่ายค้านจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตามมาตรา 154 ให้พิจารณาเนื้อหาและกระบวนการพิจารณาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

แต่ทั้งนี้มีความเป็นห่วงว่าจะมีความพยายามเร่งรีบส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้น ฝ่ายค้านจะรวบรวมรายชื่อยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและอีกทาง โดยให้ประธานรัฐสภาทำหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ระงับการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งฝ่ายค้านจะประสานประธานรัฐสภาไว้ เพื่อไม่ให้อ้างว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

ด้านนายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการเปลี่ยนการนัดหมาย ที่ให้สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล มาร่วมประชุมรัฐสภา ในวันพรุ่งนี้ (28 ก.ย.) ส่วนขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องปฏิบัติ ซึ่งทุกอย่างมีขั้นตอน หลังผ่านการโหวตวาระ 3

ส่วนจะต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสิ้นสุดก่อนหรือไม่ เนื่องจากนายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นผู้ลงนามนำขึ้นกราบบังคมทูล และหากเกิดอะไรขึ้นนายกฯ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ นายพิชิต กล่าวว่า ไม่สามารถตอบแทนได้ว่าจะต้องชะลอ หรือจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทันทีเลยหรือไม่ แต่เห็นว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ พยายามสร้างกระแสกดดัน เพื่อทำให้กลไกสะดุด สุดท้ายแล้วก็ต้องโหวตวาระ 3 เพราะบทบัญญัติรัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าขณะนี้อยู่ขั้นตอนกระบวนการทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 150 แม้ว่า จะอยู่ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว.เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการให้นายกฯระงับกระบวนการการประกาศให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ไปก่อนในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คิดว่าทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายกฯแต่เพียงผู้เดียวว่าจะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะมาตรา 150 เป็นการให้อำนาจนายกฯอยู่แล้ว แต่นายกฯก็จะต้องรับผิดชอบกับการใช้ดุลพินิจของตัวเองด้วยหากเกิดปัญหาขึ้นมา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง