มองวัฒนธรรมไทยผ่านภาพยนตร์

Logo Thai PBS
มองวัฒนธรรมไทยผ่านภาพยนตร์

สิ่งหนึ่งที่นักทำหนังพยายามใส่ลงไปในเนื้อหา คือ สะท้อนมุมมองที่มีต่อสังคมโดยเฉพาะประเด็นทางวัฒนธรรม แม้จะเห็นไม่มากนัก แต่ก็ยังมีหลายฉากที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ฉากรำไทย ที่มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อและไสยศาสตร์

ภารกิจสำคัญในการแก้บน จำต้องกลับมาเรียนรู้วิธีรำไทย เพื่อไปรำถวายหน้าศาลพ่อปู่ พล็อตเรื่องหลักของ "ตั้งวง" ภาพยนตร์ไทยที่ได้รับทุนส่งเสริมจากกระทรวงวัฒนธรรมผลงานของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ซึ่งเป็นหนังไทยขวัญใจนักวิจารณ์ประจำปีนี้ (56) นอกจากจะโดดเด่นด้วยการสะท้อนภาพวัฒนธรรมและความเป็นไทยร่วมสมัย ยังตั้งคำถามผ่านตัวแทนวัยรุ่น วัยเรียน ที่ประกอบไปด้วย ตัวแทนนักกีฬาโรงเรียน นักเต้นคัฟเวอร์ และ กลุ่มเด็กเรียน ให้ผู้ชมขบคิดถึงรากเหง้าของความเป็นไทยว่าแท้จริงแล้วคืออะไร

ความขัดแย้งระหว่างการพัฒนากับอนุรักษ์ 1 ในฉากที่เป็นหัวใจของ "โหมโรง" ภาพยนตร์ดัดแปลงชีวประวัติหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ที่บอกเล่าช่วงเวลาสำคัญในการเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีไทย ที่รัฐเข้ามาควบคุมวัฒนธรรม มีภาพยนตร์จำนวนไม่มากนักที่นำเสนอและตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมและความเป็นไทยได้อย่างเข้าใจ หากสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยกว่าในภาพยนตร์ เมื่อพูดถึงดนตรีและนาฏศิลป์ไทย คือ เรื่องผีสาง สิ่งลี้ลับ และสิ่งที่อยู่เหนือความเข้าใจในสายตาของทั้งผู้สร้าง และผู้ชมภาพยนตร์ และอาจเป็นสิ่งที่คนทั่วไปนึกถึงเป็นอันดับแรกเมื่อพูดถึงนาฏศิลป์และดนตรีไทย

ภาพจำของผีในชุดไทยออกมาร่ายรำ เช่นในเรื่องอารมณ์อาถรรพ์อาฆาต หรือใน อาถรรพ์แก้บนผี รวมถึงคำถามถึงความเชื่อและการรำ ที่ใช้เพียงติดต่อกับศาลพ่อปู่ของตัวละครวัยรุ่นใน ตั้งวง อาจเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมอง และความสำคัญของวัฒนธรรมและนาฏศิลป์ไทยที่ถูกนำมาตีความกันจนเป็นภาพจำ เรื่องราวบนแผ่นฟิล์มจึงเป็นตัวแทนความคิด ที่อาจชี้ถึงจุดยืนในอนาคต ของสิ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นรากเหง้าและมรดกของชาติก็เป็นได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง