"ประชาธิปัตย์" รับร่วมค้านนิรโทษกรรม

การเมือง
23 ต.ค. 56
14:36
32
Logo Thai PBS
"ประชาธิปัตย์" รับร่วมค้านนิรโทษกรรม

พรรคประชาธิปัตย์ยอมรับการเดินหน้าเปิดเผยข้อเท็จจริง ตามโครงการวาระประชาชน 2.0 มีจุดยืน เพื่อเปิดทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน ขณะที่นายกรัฐมนตรียืนยันกระแสต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่กระทบเสถียรภาพรัฐบาล แม้หัวหน้าพรรคเพื่อไทยจะออกมาเปิดเผยแล้วว่า หากร่าง พ.ร.บ.มีปัญหาอาจตราเป็นพระราชกำหนดแทน

ระหว่างลงพื้นที่ติดตามปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นตามโครงการวาระประชาชน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยอมรับว่าการเดินหน้ารณรงค์สร้างความเข้าใจในปัญหาของบ้านเมืองนั้น มีจุดยืนที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบ และเปิดทางให้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน พร้อมยืนยันว่าการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชนในวันพรุ่งนี้ จะต้องพิจารณาบทบัญญัติให้ถูกต้อง และเหมาะสม หลังเนื้อหามีข้อความที่บ่งชัดได้ว่าเป็นการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
 
ขณะที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะสามารถเดินหน้าพิจารณาไปได้ตามขั้นตอน หากไม่มีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้น โดยชี้ว่าจะใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยทำความเข้าใจกับประชาชนในทุกช่องทาง เพื่อยืนยันวัตถุประสงค์หลักของร่างกฎหมาย คือการอภัยโทษให้กับทุกฝ่าย พร้อมกล่าวให้ความมั่นใจว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาที่จะนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำผิดอย่างครอบคลุม โดยคณะกรรมาธิการได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว แต่หากไม่สามารถออกเป็น พ.ร.บ.ได้ ก็อาจจะปรับร่างกฎหมายตราเป็นพระราชกำหนดแทน
 
ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำให้ประชาชนแยกส่วนในการมองบทบาทของรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎรออกจากกัน ดังนั้น กระแสต่อต้านร่างกฎหมาย จึงไม่น่าจะกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาลได้ พร้อมยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นร่างของ ส.ส.ที่สภาฯต้องพิจารณาร่วมกัน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ หรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเตรียมชุมนุมต่อต้านถือเป็นสิทธิที่จะชุมนุมได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย
 
ขณะที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ยอมรับว่า การนิรโทษกรรมอาจกระทบต่อหลายคดี ที่ค้างอยู่ในชั้น ป.ป.ช. โดยเฉพาะคดีการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.ที่กำลังไต่สวนใกล้เสร็จสิ้นแล้ว และเห็นว่าแม้การนิรโทษกรรมจะเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ต้องคำนึงถึงอำนาจฝ่ายอื่นด้วย โดยต้องวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น หากมีการบังคับใช้กฎหมาย หากการล้างไพ่ไปกระทบกับอำนาจตุลาการ ก็จะต้องมีคำตอบเรื่องเหล่านี้ โดยมีเหตุผลที่ดีด้วย
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อผู้รับประโยชน์จากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และแม้ในอดีตจากเหตุการณ์วิกฤตชุมนุม เมื่อปี 2553 กองทัพจะมีบทบาท เป็นผู้สั่งการในเหตุการณ์ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้กองทัพยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ต้องต่อสู้คดีต่อไป พร้อมระบุว่ากองทัพให้ความสนใจหลักไปที่การตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง