รมว.ต่างประเทศหารือ "ฮอร์ นัมฮง" สร้างความมั่นใจให้ประชาชนตามแนวชายแดน

การเมือง
28 ต.ค. 56
08:05
43
Logo Thai PBS
รมว.ต่างประเทศหารือ "ฮอร์ นัมฮง" สร้างความมั่นใจให้ประชาชนตามแนวชายแดน

วันนี้ (28 ต.ค.) มีการนัดหารือระหว่าง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยกับกัมพูชา ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา ก่อนจะมีคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก กรณีปราสาทพระวิหาร เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนแนวชายแดนไทย - กัมพูชา โดยหลังการหารือมีการแถลงที่โรงแรมอรัญเมอร์เมด จ.สระแก้ว

นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวไทยพีบีเอส เปิดเผยถึงกรณีการนัดหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยกับกัมพูชา ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชาว่า การพูดคุยช่วงเช้าเป็นไปตามความริเริ่มของฝ่ายไทย ซึ่งระหว่างการแถลง ทางนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าที่เดินทางไปกัมพูชา เพราะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และเป็นความต้องการร่วมกันของ 2 ประเทศของผู้นำทั้ง 2 ฝ่าย ในการที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดี และความร่วมมือที่มีในพื้นที่ชายแดน โดยทั้ง 2 ฝ่ายย้ำในระหว่างการแถลงข่าวว่าไม่ว่าผลการตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก ที่จะมีขึ้นในวันที่จันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2556 จะออกมาอย่างไรก็ตาม จะไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง 2 ประเทศ และบอกว่าเป็นเพื่อนบ้านจะต้องอยู่ด้วยกัน การพัฒนาร่วมกัน รวมถึงการดำเนินการใดๆ หลังศาลตัดสินแล้ว คงจะต้องมีการพูดคุยกัน แต่ว่าทั้ง 2 ประเทศจะยึดมั่นในเจตนารมณ์ที่จะรักษาความสงบในพื้นที่ชายแดน ไม่ให้ผลการตัดสินที่เกิดขึ้นกระทบความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่าย 
 
ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่มีการพูดกันคือ 2 ฝ่ายได้กำหนดมาตรการร่วมกัน เป็นมาตรการที่ทำในแต่ละประเทศในการรักษาความสงบตามแนวชายแดน รวมถึงการรักษาสภาพไม่ให้เกิดความขัดแย้ง หรือที่จะนำไปสู่ความเข้าใจผิดในพื้นที่ชายแดนได้ หลังจากที่นายสุรพงษ์แถลงข่าว ทางนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาชี้แจงเพิ่มเติม โดยกล่าวในระหว่างการแถลงว่าวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการประชุมคณะรัฐมนตรีของทางกัมพูชา และสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีได้แจ้งในที่ประชุม ซึ่งมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการตำรวจเข้าร่วมในการพูดคุยด้วย ในการประชุมครั้งนั้น ทางสมเด็จฮุนเซน ได้ย้ำกับผู้นำเหล่าทัพว่าจะต้องไม่ให้เกิดสถานการณ์รุนแรงใดๆ ขึ้นในพื้นที่ชายแดน หลังที่มีคำตัดสินในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2556 
 
อย่างไรก็ตาม มีอีกประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งระหว่างการแถลง ทางนายฮอร์ นัมฮง ได้ชี้แจงในที่ประชุมได้ชี้แจงในการแถลงข่าวว่า โดยนายฮอร์ นัมฮง เชื่อว่าสาเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2554 เกิดจากสถานการณ์ขัดแย้งการเมืองในประเทศไทย และได้ตำหนิรัฐบาลที่แล้ว คือรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นต้นเหตุของการทำให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ชายแดน ซึ่งการชี้แจงของนายฮอร์ นัมฮง ในวันนี้ สอดรับกับสิ่งที่นายฮอร์ นัมฮง ได้พูดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาระหว่างการแถลงด้วยวาจาที่ศาลโลก ซึ่งครั้งนั้น ตนเองได้ไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย และได้รับฟังข้อกล่าวหาในลักษณะอย่างนี้จากผู้นำกัมพูชา 
 
ทั้งนี้ การประชุมที่ศาลโลก เมื่อเดือนเมษายน ในครั้งนั้น นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ชี้แจงในประเด็นนี้ โดยบอกว่าสาเหตุของความรุนแรงขึ้นในพื้นที่ชายแดนในช่วงปี 2554 มีสาเหตุสำคัญมาจากนโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าวของกัมพูชา รวมถึงความต้องการที่จะผนวกดินแดนอธิปไตยของไทยเป็นของกัมพูชา เนื่องจากมีขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้วกัมพูชาต้องการพื้นที่ในเขตแดนไทย 4.6 ตารางกิโลเมตร เข้าไปบริหารจัดการ จากนโยบายดังกล่าว และความต้องการตรงนั้น ทำให้เกิดการเผชิญหน้า ทำให้เกิดการสู้รบ ไม่ได้เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอย่างที่นายฮอร์ นัมฮง ตั้งข้อสังเกต ซึ่งในวันนี้ก็มาย้ำประเด็นนี้ สร้างความแปลกใจพอสมควร เพราะระหว่างการแถลงข่าว คนที่มารับฟังข่าวไม่คิดว่าจะได้ยินคำกล่าวหาในลักษณะนี้ที่ไปกล่าวหารัฐบาลของชุดที่แล้ว เพราะว่าตอนเหตุการณ์ช่วงวันที่ 4-7 กุมภาพันธ์ 2554 ที่มีสถานการณ์รุนแรง แล้วฝ่ายกัมพูชาใช้จรวดหลายลำกล้องยิงกระสุนเข้ามาหลายร้อยนัดเข้ามาในเขตแดนไทย ในครั้งนั้นเป็นข้อสรุปที่ตรงกันว่าเกิดจากการยั่วยุของฝ่ายกัมพูชาในครั้งนั้น 
 
ส่วนการตั้งคณะกรรมการร่วมไทย - กัมพูชานั้น เป็นประเด็นที่มีการชี้แจงในการแถลงช่วงเช้าของวันนี้ โดยนายสุรพงษ์ กล่าวว่า หลังจากที่มีการตัดสินของศาลแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้กลไกที่มีอยู่
ในการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ รวมถึงการแก้ปัญหา หากจะมีสถานการณ์อะไรที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น โดยช่องทางดังกล่าวมีคณะกรรมาธิการร่วมเขตแดนทั้ง 2 ประเทศ (เจซี) ที่มีรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะ นอกจากนั้น ยังมีเจบีซี ตามเอ็มโอยู 43 ซึ่งพูดในเรื่องของการปักปันเขตแดน เข้าใจว่าคงจะใช้ช่องทางเจซีแล้วหลังจากที่ศาลตัดสินในวันที่ 11 พฤศจิกายแล้ว คงนัดวันประชุมหลังจากนั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง