กลุ่ม 40 ส.ว.เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา

การเมือง
8 พ.ย. 56
09:03
33
Logo Thai PBS
กลุ่ม 40 ส.ว.เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา

หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรถอนร่างพ.ร.บ.ปรองดองและนิรโทษกรรม ที่ค้างอยู่ในการพิจารณา 6 ฉบับ ออกจากสภาฯแล้ว วันนี้ (8 พ.ย.) ต้องจับตาไปที่การประชุมวุฒิสภา ที่นัดประชุมพิเศษ เพื่อหารือร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ที่อยู่ในข้ันตอนการพิจารณาของวุฒิสภา โดยขณะนี้ ส.ว.ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่ง 1 ในข้อเสนอแก้ปัญหากรณีนี้ กลุ่ม 40 ส.ว. ได้เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน เพื่อให้กฎหมายนิรโทษกรรมตกไป

เมื่อวานนี้ (7 พ.ย.) ตัวแทนกลุ่ม 40 ส.ว. ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชนเพื่อหาทางออกให้ประเทศ เพราะสภาขณะนี้เดินหน้าต่อไปไม่ได้ และเมื่อยุบสภาแล้ว และจะทำให้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่โยนมาให้วุฒิสภารับผิดชอบจะได้ตกไปด้วย เพราะแม้ว่าเมื่อครบ 180 วันที่ส่งกลับคืนสภาผู้แทนก็ยังมั่นใจไม่ได้ว่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกหรือไม่ ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือการยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน

สอดคล้องกับแถลงการณ์ของผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ส่อเค้าว่าจะบานปลายและขยายวงออกไป

ผศ.วุฒิศักดิ์ ยังระบุอีกว่า รัฐบาลไม่ควรปล่อยสถานการณ์ให้บานปลายไปมากกว่านี้ และไม่ควรอาศัยเสียงข้างมากในสภาฯ เป็นกลไกในการประคองปัญหาทางการเมือง ภายใต้ระบบรัฐสภาความชอบธรรมทางการเมืองมีความสำคัญมากกว่าความมั่นใจในเสียงข้างมากทางการเมือง ซึ่งทางออกภายใต้ระบบรัฐสภามีอยู่สองทาง ทางแรก คือ การลาออกของรัฐบาล และทางที่สอง คือ การยุบสภา โดยทางที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้ คือ การยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนในการตัดสินใจต่อไป

ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่าได้นัดประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวันนี้ จากเดิมที่ตกลงกันไว้ในวันที่ 11 พฤศจิกายน เพราะต้องการให้สถานการณ์บ้านเมืองคลี่คลาย จึงต้องเลื่อนการพิจารณาให้เร็วขึ้น ขณะที่ส.ว.หลายคนไม่พอใจ เพราะเห็นว่าเป็นการเร่งรีบและรวบรัด อาจรับใบสั่งทางการเมือง

และหลังสภาผู้แทนราษฎรลงมติถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและร่างพ.ร.บ.ปรองดอง รวม 6 ฉบับที่ค้างอยู่ในระบบออกจากการพิจารณาแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นากยรัฐมนตรี แถลงชี้แจงเจตนารมณ์ของการถอนร่างกฎหมาย ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความสบายใจให้กับประชาชน ว่าเรื่องทั้งหมดน่าจะจบสิ้นลงจริงๆ แล้ว พร้อมปฏิเสธการตรากฎหมายเพื่อช่วยเหลือคดีทุจริต และระบุว่าโครงการจำนำข้าว หรือโครงการบริหารน้ำไม่เกี่ยวข้องกับข้อบัญญัติของร่างกฎหมายแต่อย่างใด

ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ผ่านเฟซบุ๊ค ขณะร่วมประชุมใหญ่ยูเนสโกอ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสว่า วุฒิสภาควรจะมีมติคว่ำกฎหมายฉบับที่ผ่านสภาผู้แทนมานี้ไปเสีย ส่วนการจะหาทางนิรโทษประชาชนทุกฝ่ายไม่รวมแกนนำ และผู้สั่งการนั้นค่อยไปว่ากันในวันข้างหน้า และเชื่อว่าเมื่อกฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านวุฒิสภาแล้ว เหตุการณ์น่าจะผ่อนคลายไปได้ไม่น้อย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง