คณะนักร้องประสานเสียงกับย่างก้าว AEC

Logo Thai PBS
คณะนักร้องประสานเสียงกับย่างก้าว AEC

การเรียนรู้กันผ่านบทเพลงของแต่ละชาติ นอกจากจะสร้างความสนุก และกระชับมิตรให้บรรดานักร้องประสานเสียงจากชาติอาเซียนแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักร้องแต่ละประเทศได้เรียนรู้วัฒธรรม และภาษาของเพื่อนบ้านผ่านบทเพลงประจำชาติ

สอดประสาน ทั้งเสียงต่ำสูง และซักซ้อมเป็นอย่างดีเพื่อให้ท่วงทำนองลงตัว สร้างความประทับใจให้ผู้ฟังชาวไทย กับบทเพลง "เขมรไทรโยค" ที่คณะนักร้อง วง ดิ แอมบาสซิเดอร์ แชมเบอร์ อองซองเบิล จากฟิลิปปินส์ นำมาขับร้องในงาน Work shop คอรัส สปีค เพลงไทย ปะทะตะวันตก โดยได้ รามอน ลิเฮาโก้ จูเนียร์ หรือ โบโจ้ วาทยากรชื่อดังชาวฟิลิปปินส์นำทีมคณะนักร้องกว่า 10 ชีวิต มาร่วมกิจกรรม
 
โบโจ้ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ขับร้องเพลงไทย ซึ่งความยากอยู่ที่การแปลเนื้อหาภาษาไทย ให้เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งการเอื้อน หรือขับร้องของคนไทยยังใช้ลำคอเป็นสำคัญ ซึ่งขัดกับหลักการร้องเพลงประสานเสียงของฟากตะวันตก 
 
ที่เห็นออกเสียงภาษาไทยได้ชัดเจนแบบนี้ โบโจ้ มีตัวช่วย โดยให้คนไทยออกเสียงให้ฟัง เพราะการขับร้องประสานเสียงของชาวไทยนั้นจะเป็นไปตามวรรณยุกต์ แต่สำหรับชาวต่างชาติการอ่านคำร้องจากโน้ตเพียงอย่างเดียว อาจทำให้เสียงที่ได้ผิดเพี้ยนจากการร้องตามธรรมเนียมไทย การบรรยายตลอด 1 สัปดาห์เต็ม ช่วยให้คณะนักร้องสวนพลูเห็นถึงปัญหา และช่องทางพัฒนาฝีมือ 
 
สนุกคึกคัก ใช้ลูกเล่น เสียงประสาน และการโห่ร้องตามภาษาชนเผ่า ในบทเพลง ลุค ลุค ลุมบู เพลงชนเผ่าประจำหมู่เกาะชวาตะวันออก ความพร้อมเพรียง และพลังเสียง ทำให้ประเทศเจ้าภาพได้เห็นศักยภาพของนักร้องประสานเสียงในไทย และยังเห็นภาพความสัมพันธ์ของชาติอาเซียนผ่านบทเพลงที่ผลัดกันนำมาขับขาน 
 
โบโจ้ กล่าวว่า คนไทยอาจจะสนุกสนาน และไม่รู้ตัวว่าเพลงไทยนั้นมีคุณค่า และพิเศษแค่ไหน เพราะเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยอยู่ในสายเลือด ซึ่งตอนนี้นักร้องประสานเสียงในหลายๆ ประเทศก็กำลังมองหาเพลงไทย เพราะเท่าที่รู้มีเพียง ลาวดวงเดือน เท่านั้นที่ชาวต่างชาติสามารถเข้าไปซื้อในเว็บไซต์ได้   
 
โบโจ้ เคยคุมวงขับร้องประสานเสียงให้กับหลายประเทศ รวมถึงพาทีมขับร้องประสานเสียงของเขา คว้า 3 รางวัลใหญ่ อย่างรางวัลที่ทรงคุณค่าที่สุดในวงการประสานเสียงของโลก Choir of the World 2011, Luciano Pavarotti Trophy เอาชนะวงประสานเสียงของประเทศที่เป็นต้นกำเนิดการขับร้องประสานเสียงในยุโรปหลายๆ วงมาได้
 
การอบรมในครั้งนี้ จึงไม่เพียงถ่ายทอดประสบการณ์สำคัญ ที่คณะนักร้องประสานเสียงของไทยมีโอกาสเรียนรู้แบบก้าวกระโดด แต่ยังทำให้ได้รู้ว่าชาติอาเซียนกำลังรู้จักกันผ่านบทเพลง และในอนาคตประเทศไทยอาจต้องเตรียมตัวรองรับด้วยการสร้างโน้ตที่เป็นสากล เพื่อเผยแพร่ให้ชาวต่างชาติได้ร่วมขับขาน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง