ประเมินเศรษฐกิจกับการเลือกตั้ง

เศรษฐกิจ
18 ธ.ค. 56
01:16
19
Logo Thai PBS
ประเมินเศรษฐกิจกับการเลือกตั้ง

ในช่วงนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนต่างออกมาประเมินทิศทางของเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้น พร้อมระบุว่า การเลือกตั้ง อาจไม่สามารถยืนยันได้ว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้นและในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (17 ธ.ค.56) จึงได้มอบหมายให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ดูแล

นายกิตติรัตน์ ระบุว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าสานต่องานด้านเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้เกิดเกียร์ว่าง แม้มีการยุบสภาไปแล้ว นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เสนอขอสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง

จำนวนเงินที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ อยู่ที่ 3,885,006,500 บาท โดยแบ่งออกเป็น ค่าใช้จ่ายที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการเอง  3,231,918,300 บาท และค่าใช้จ่ายของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่ร่วมดำเนินการ 653,088,200 บาท

ค่าใช้จ่ายของหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการจะกระจายออกไปหลายส่วน เช่น กรมประชาสัมพันธ์ ประมาณ 20 ล้านบาท กรมการปกครอง 3 หน่วยงาน ซึ่งก็คือ สำนักบริหารการทะเบียน สำนักบริหารการปกครองท้องที่ และสำนักกิจการความมั่นคงภายใน มีค่าใช้จ่ายรวมกันแล้ว อยู่ที่ราว 155 ล้านบาท ขณะที่บริษัทไปรษณีย์ไทย มีค่าใช้จ่ายประมาณ 210 ล้านบาท

ส่วนการดูแลเศรษฐกิจในตอนนี้ นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่า โครงการต่าง ๆ ที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว ยังเดินหน้าต่อไม่ว่าจะเป็น การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล, การจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ธุรกิจภาคใต้, การจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรยางพารา, และโครงการจำนำข้าว แต่ก็อาจจะต้องหารือกับ กกต.ก่อน นอกจากนี้ จะมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

<"">
<"">

ในช่วงที่ปัญหาการเมืองยังไม่มีข้อสรุป แนวโน้มของเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ แต่ถ้าตั้งธงว่า หากมีการเลือกตั้งแล้ว เศรษฐกิจจะดี เรื่องนี้ นักเศรษฐศาสตร์มองว่า อาจไม่เป็นอย่างนั้น เพราะปัจจัยสำคัญ คือ เสถียรภาพทางการเมือง และ การยอมรับของคนในสังคม หลังเลือกตั้ง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจปีนี้ (56) จะขยายตัวเพียงร้อยละ 3 จากเดิมที่คาดไว้ ร้อยละ 3.5 ส่วนเศรษฐกิจในปี 57 คาดการณ์ไว้ 4 กรณี โดยกรณีที่ 2 มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือการเมืองค่อนข้างมีเสถียรภาพ การลงทุนภาครัฐใกล้เคียงกับแผนที่วางไว้ เอกชนและต่างชาติมีความเชื่อมั่นระดับปานกลาง เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ ร้อยละ 4 - 4.5 ซึ่งลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ ร้อยละ 5.1 โดยเศรษฐกิจได้รับความเสียหายจากสถานการณ์การเมืองประมาณ 70,000 -100,000 ล้านบาท

หากมีการเลือกตั้ง คาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 จะมีเงินสะพัด 30,000  - 50,000 ล้านบาท แต่หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เม็ดเงินจะลดลงเหลือ 10,000 - 20,000 ล้านบาท ส่วนทิศทางเศรษฐกิจ จะชัดเจนในไตรมาส 2


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง