"กษิต" ชี้เจรจาถอนทหาร 2 ฝ่ายไม่สามารถใช้ช่องทาง "จีบีซี" ได้

ต่างประเทศ
22 ก.ค. 54
00:59
13
Logo Thai PBS
"กษิต" ชี้เจรจาถอนทหาร 2 ฝ่ายไม่สามารถใช้ช่องทาง "จีบีซี" ได้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ไม่สามารถใช้ช่องทางหารือของคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา หรือ จีบีซี เพื่อเจรจาถอนทหารตามมติศาลโลกได้ ขณะที่นายกรัฐมนตรี ย้ำจุดยืนของไทยที่กัมพูชาต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ปราสาทพระวิหารก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะรับผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินการขั้นตอนต่อไป ภายหลังจากศาลโลกมีคำสั่งมาตรการชั่วคราวให้ไทย และ กัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร โดยไทยมีเวลาถึงวันนี้ (22 ก.ค.) ในการยื่นข้อสังเกตของไทยต่อศาลโลกซึ่งคาดว่า ศาลน่าจะมีเวลาในการพิจารณาคดี 3-4 เดือนก่อนจะเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

ส่วนการให้ผู้สังเกตการณ์จากประเทศอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่นั้นนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไทยและกัมพูชายังมีความเห็นไม่ตรงกัน โดยการส่งผู้สังเกตการณ์จะทำได้ต่อเมื่อมีการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ก่อน ซึ่งต้องใช้ช่องทางการหารือรวมถึงพูดคุยในระดับอาเซียน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาว่า ไม่ควรพูดว่าใครเป็นฝ่ายได้เปรียบเสียเปรียบ และขณะนี้กองทัพก็ยังไม่มีการถอนกำลัง และ ไม่ได้สั่งการใดเป็นพิเศษ ส่วนมติศาลโลกเป็นเพียงมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อไม่ให้เกิดการปะทะขึ้นเท่านั้น

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการส่งผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียลงพื้นที่ ก่อนหน้านี้ไทยตั้งเงื่อนไขไว้ว่า กัมพูชาต้องถอนทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารก่อนนั้น เมื่อศาลโลกมีคำสั่งแล้วถือว่าเงื่อนไขดังกล่าวได้ตกไปแล้ว แต่การถอนทหารออกจากพื้นที่จะต้องทำอย่างเท่าเทียมกัน โดยต้องการให้กัมพูชากลับสู่โต๊ะการเจรจาเพื่อความชัดเจน

ส่วนการหารือโดยใช้กรอบของคณะกรรมการชายแดนทั่วไป หรือ จีบีซี นั้น จากคำสั่งของศาลโลกพบว่า เกินขอบเขตอำนาจของจีบีซี และ ในวันที่ 25 ก.ค.นี้จะนัดประชุมกระทรวงกลาโหม และ หน่วยงานความมั่นคง เพื่อหารือแนวทางตั้งคณะทำงานชุดใหม่มาดำเนินการ พร้อมบันทึกเสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ต่อไป

ก่อนหน้านี้นายฮอร์นัม ฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา กล่าวระหว่างการประชุมอาเซียนที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยเรียกร้องให้อินโดนีเซียซึ่งทำหน้าที่ประธานอาเซียนส่งผู้สังเกตการณ์ไปยังพื้นที่พิพาทโดยเร็ว ก่อนที่จะมีการถอนทหารออกจากพื้นที่ตามมติศาลโลก

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง